ผลลัพธ์ Prednisolone และ Pentoxifylline ต่อการรอดชีพผู้ป่วยตับอักเสบจากแอลกอฮอล์
JAMA. 2013;310(10):1033-1041.
บทความเรื่อง Prednisolone with vs without Pentoxifylline and Survival of Patients with Severe Alcoholic Hepatitis: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า prednisolone หรือ pentoxifylline เป็นยาที่แนะนำสำหรับการรักษาตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโดยให้ยาทั้งสองตัวรวมกัน
นักวิจัยศึกษาว่าการเสริม pentoxifylline ร่วมกับ prednisolone ให้ผลดีกว่าการรักษาด้วย prednisolone อย่างเดียวหรือไม่ โดยศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind clinical trial ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 ถึงมีนาคม ค.ศ. 2010 ของโรงพยาบาลในเบลเยียม 1 แห่ง และในฝรั่งเศส 23 แห่ง ครอบคลุมผู้ป่วย 270 ราย อายุระหว่าง 18-70 ปี ซึ่งติดเหล้าและมีผลตรวจชิ้นเนื้อระบุว่าเป็นตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ขั้นรุนแรง ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอาการตัวเหลืองในช่วง 3 เดือนก่อนการศึกษา และมี Maddrey score อย่างน้อย 32 คะแนน การติดตามมีระยะเวลา 6 เดือน และการศึกษาสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 โดยสามารถติดตามผลลัพธ์หลักในผู้ป่วยทุกราย
นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย prednisolone 40 mg วันละครั้ง ร่วมกับ pentoxifylline 400 mg วันละ 3 ครั้ง (n = 133) เป็นเวลา 28 วัน หรือ prednisolone 40 mg วันละครั้ง ร่วมกับยาหลอก (n = 137) เป็นเวลา 28 วัน
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การรอดชีพที่ 6 เดือน จุดยุติทุติยภูมิ ได้แก่ การเกิด hepatorenal syndrome และการตอบสนองต่อการรักษาประเมินจาก Lille model ซึ่งระบุผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ 7 วันภายหลังเริ่มการรักษา
ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์แบบ intention-to-treat รายงานว่า การรอดชีพที่ 6 เดือนไม่ต่างกันในกลุ่ม pentoxifylline-prednisolone และ placebo-prednisolone (69.9% [95% CI, 62.1-77.7%] vs 69.2% [95% CI, 61.4-76.9%], p = 0.91) และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 40 vs 42 ราย ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์พหุตัวแปรพบว่า มีเพียงคะแนน Lille model และ Model for End-Stage Liver Disease เท่านั้นที่สัมพันธ์โดยอิสระกับการรอดชีพที่ 6 เดือน ข้อมูลที่ 7 วันชี้ว่า การตอบสนองต่อการรักษาประเมินด้วย Lille model ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม (Lille model score, 0.41 [95% CI, 0.36-0.46] vs 0.40 [95% CI, 0.35-0.45], p = 0.80) และความน่าจะเป็นของการตอบสนองต่อการรักษาก็ไม่แตกต่างกัน (62.6% [95% CI, 53.9-71.3%] vs 61.9% [95% CI, 53.7-70.3%], p = 0.91) อุบัติการณ์รวมของ hepatorenal syndrome ที่ 6 เดือนไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม pentoxifylline-prednisolone และ placebo-prednisolone groups (8.4% [95% CI, 4.8-14.8%] vs 15.3% [95% CI, 10.3-22.7%], p = 0.07)
ผลลัพธ์การศึกษาในผู้ป่วยตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ชี้ว่า การรักษาระยะ 4 สัปดาห์ด้วย pentoxifylline และ prednisolone เมื่อเทียบกับการรักษาด้วย prednisolone อย่างเดียวไม่ทำให้การรอดชีพที่ 6 เดือนดีขึ้น อย่างไรก็ดี การศึกษานี้อาจไม่สามารถระบุผลต่างที่มีนัยสำคัญด้านอุบัติการณ์ของ hepatorenal syndrome ซึ่งพบน้อยกว่าในกลุ่มที่รักษาด้วย pentoxifylline