เปรียบเทียบ Cystatin C และ Creatinine สำหรับประเมินความเสี่ยงตามการทำงานของไต
N Engl J Med 2013;369:932-943.
บทความเรื่อง Cystatin C versus Creatinine in Determining Risk Based on Kidney Function รายงานว่า การตรวจ cystatin C ร่วมกับ serum creatinine เพื่อวัดระดับ estimated glomerular filtration rate (eGFR) ช่วยให้ผลลัพธ์มีความเที่ยงตรงสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีข้อมูลสำหรับผลต่อการตรวจหา ระบุระยะ และการแบ่งกลุ่มเสี่ยงสำหรับโรคไตวายเรื้อรังในกลุ่มประชากรที่หลากหลาย
นักวิจัยวิเคราะห์ meta-analysis จากการศึกษาในกลุ่มประชากรทั่วไป 11 ชิ้น (90,750 ราย) และการศึกษาในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5 ชิ้น (2,960 ราย) ซึ่งมีข้อมูลผลตรวจ serum creatinine และ cystatin C นักวิจัยได้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของ eGFR ที่คำนวณจากผลตรวจ creatinine หรือ cystatin C อย่างเดียว หรือ cystatin C ร่วมกับ creatinine กับอัตราตาย (13,202 รายใน 15 กลุ่ม), การตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (3,471 รายใน 12 กลุ่ม) และโรคไตวายระยะสุดท้าย (1,654 รายใน 7 กลุ่ม) และประเมินประโยชน์ด้านการเปลี่ยนกลุ่มด้วย cystatin C
ข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มประชากรทั่วไปพบว่า ความชุกของ eGFR ที่ต่ำกว่า 60 ml per minute per 1.73 m2 ของพื้นผิวร่างกายมีระดับสูงกว่าจาก cystatin C-based eGFR เทียบกับ creatinine-based eGFR (13.7% vs 9.7%) และจาก eGFR ทุกกลุ่มพบว่า การเปลี่ยนกลุ่ม eGFR ไปที่ค่าสูงขึ้นจากผลตรวจ cystatin C สัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ที่ศึกษาทั้ง 3 ด้านเทียบกับการตรวจ creatinine ขณะที่การเปลี่ยนกลุ่ม eGFR ไปที่ค่าต่ำลงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ค่า net reclassification improvement จากการตรวจ cystatin C เทียบกับ creatinine เท่ากับ 0.23 (95% confidence interval [CI], 0.18-0.28) สำหรับการตาย และ 0.10 (95% CI, 0.00-0.21) สำหรับไตวายระยะสุดท้าย ทั้งนี้ผลลัพธ์โดยรวมใกล้เคียงกันใน 5 กลุ่มที่เป็นไตวายเรื้อรัง และเมื่อคำนวณ eGFR โดยใช้ creatinine ร่วมกับ cystatin C
ผลลัพธ์การศึกษาสรุปว่า การใช้ cystatin C อย่างเดียวหรือร่วมกับ creatinine สามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง eGFR กับความเสี่ยงการตายและไตวายระยะสุดท้ายในกลุ่มประชากรที่หลากหลาย