การคัดกรองโรคหัวใจในทารกแรกเกิด ร.พ.ราชบุรี

การคัดกรองโรคหัวใจในทารกแรกเกิด ร.พ.ราชบุรี

ลดภาวะแทรกซ้อน และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดวิกฤตเป็นกลุ่มโรคที่ต้องการการรักษาโดยการผ่าตัดหรือสวนหัวใจภายใน 1-2 เดือนแรกของชีวิต มิฉะนั้นจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราชบุรีไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถสวนหัวใจหรือผ่าตัดหัวใจพิการซับซ้อนในช่วงแรกเกิดได้ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคแล้ว การให้การวินิจฉัยก่อนเกิดอาการจึงมีความสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ปัจจุบันมีบางประเทศนำ Pulse oximeter มาใช้ในการคัดกรองโรคกลุ่มนี้ ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้จัดเป็นการตรวจมาตรฐานในทารกแรกเกิดทุกราย

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ พญ.เสมอใจ เห็นประเสริฐแท้ กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี และทีมวิจัย จึงได้เริ่มมีการจัดตั้งระบบคัดกรองโรคหัวใจตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ในขณะนั้นยังไม่มีแนวทางมาตรฐานในการคัดกรอง ในช่วงแรกจึงวางระบบเป็นลักษณะงานวิจัย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนระบบให้เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. ค้นหาผู้ป่วยจากการคัดกรอง 2. หากระบวนการที่เหมาะสมในการปฏิบัติให้เป็นงานประจำที่มีประสิทธิภาพ 3. ใช้เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ตรงที่จะเผยแพร่ไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครือข่าย

ระเบียบวิธีวิจัย

คัดกรองโดยใช้การตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน (Oxygen saturation) ที่มือขวา (Preductal site) และขา (Posductal site) เมื่อทารกอายุครบ 24 ชั่วโมง นอกเหนือจากการตรวจร่างกายทั่วไปตามปกติของแพทย์ มีการตรวจยืนยันด้วย Echocardiography ในรายที่ผลการคัดกรองเป็นบวก ติดตามทารกที่ผลการคัดกรองเป็นลบเป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อวัดประสิทธิภาพของเครื่องมือคัดกรอง ประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการคัดกรองในช่วงเริ่มโครงการจากความครอบคลุมของการคัดกรองในกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายคือทารกแรกเกิดที่ยังไม่มีอาการแสดงของโรคหัวใจซึ่งส่วนใหญ่อยู่กับมารดาที่หอผู้ป่วยสูติกรรมหลังคลอด จะมีงานประจำที่ต้องดูแลทั้งมารดาและทารกค่อนข้างมาก และไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่ใช้ในการคัดกรอง การริเริ่มงานใหม่จึงต้องมีกระบวนการในการผลักดันให้เกิดความครอบคลุม ถูกต้อง ทันเวลา และต่อเนื่อง

ผลการศึกษา

ตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงมกราคม พ.ศ. 2556 มีทารกที่ได้รับการคัดกรองทั้งสิ้น 3,517 คน คิดเป็นร้อยละ 79 ของกลุ่มเป้าหมาย พบอุบัติการณ์ของโรค 1.82 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในโรงพยาบาลราชบุรี วินิจฉัยโรคจากการคัดกรอง 4 คน ทั้งหมดได้รับการส่งต่อและยังคงมีชีวิตอยู่ ประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้คัดกรองโดยวัดจากค่า sensitivity และ specificity เฉพาะจากการวัดค่า Oxygen saturation อย่างเดียวเท่ากับร้อยละ 75 และร้อยละ 94.7 เมื่อร่วมกับการตรวจร่างกายเท่ากับร้อยละ 100 และร้อยละ 93.6 ตามลำดับ พบอัตราการวัดซ้ำเพื่อยืนยันค่าผิดปกติ และรายงานแพทย์เพื่อตรวจยืนยันในช่วงแรกน้อย ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการพัฒนาในลำดับต่อไป (KPI ที่ตั้งไว้ 1. ความครอบคลุมของการคัดกรองในกลุ่มเป้าหมาย 2. เทคนิคการวัดและยืนยันค่าผิดปกติ 3. ความครอบคลุมของการตรวจยืนยันในรายที่การคัดกรองให้ผลบวก)

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ

1. ใช้ในการปฏิบัติงานจริงตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบการคัดกรอง การส่งต่อ การดูแลรักษาในโรงพยาบาลราชบุรี และการติดตามอาการเมื่อกลับบ้าน 2. มีการเผยแพร่ไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายในการประชุมเครือข่ายทารกแรกเกิด 3. เข้าร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี เป็นโรงพยาบาลที่ร่วมเป็นแกนนำและเข้าร่วมในงานวิจัยระดับประเทศ

ด้วยความโดดเด่นของงานวิจัยซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีในการนำเครื่องมือที่มีวิธีการใช้งานง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาใช้คัดกรองโรคที่วินิจฉัยได้ยาก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยและการทำงานของแพทย์ พยาบาล จึงทำให้ผลงาน “การคัดกรองโรคหัวใจในทารกแรกเกิด” ได้รับ รางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2556 ประเภทการบริการระดับตติยภูมิ จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

พญ.เสมอใจ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แต่งานนี้ไม่ได้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว เป็นความสำเร็จของทีมที่มีความตั้งใจจริง มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในงานของตน และพยายามหาแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหา ประกอบด้วยหัวหน้าหอผู้ป่วยหลังคลอด หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยวิกฤตกุมารฯ และกุมารแพทย์โรคหัวใจ ที่ร่วมกันจัดตั้งระบบคัดกรองและระบบการทำงานที่เหมาะสม และเกิดกระบวนการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

“การคิดทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในงานของเราเองจะเห็นผลลัพธ์ที่ค่อนข้างชัดเจนกว่า มากกว่าการที่จะพยายามไปอ่านเปเปอร์งานวิจัยที่ค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาการมากเกินไป เพราะบางทีเมื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติจริงอาจได้ผลไม่ชัดเจน แต่ถ้าเรามองจากหน้างานของเราเป็นหลักว่าปัญหาคืออะไร แล้วพยายามหางานวิจัย เรียนรู้จากงานวิจัยที่ตรงกับเรามากที่สุด จะได้ผลสำเร็จของงานที่บรรลุเป้าหมายและเป็นมากกว่างานวิจัย เพราะความสำเร็จนี้ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพงานของตนเอง และยังสร้างความภูมิใจในงานที่ตนเองได้ทำอีกด้วย” พญ.เสมอใจ กล่าวทิ้งท้าย