การแพทย์ผสมผสานแพทย์แผนไทย วิทยาศาสตร์และแพทย์แผนปัจจุบัน

.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล

การแพทย์แผนไทยประยุกต์

การแพทย์ผสมผสานแพทย์แผนไทย วิทยาศาสตร์และแพทย์แผนปัจจุบัน

การแพทย์แผนไทยเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติ เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ควบคู่กับการดำรงชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยได้ทำประโยชน์ในด้านการรักษาและการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยมาแต่ครั้งโบราณกาล โดยใช้วิธีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Medical System) ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพ การรักษาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างวิชาแพทย์แผนไทยกับวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์” การเรียนการสอนที่ผสมผสานวิชาดังกล่าวนี้ทำให้แพทย์แผนไทยประยุกต์มีกลไกในการจัดสรรเทคนิค มีวิธีการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสามารถดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้การแพทย์แผนไทยประยุกต์ยังเป็นการเชื่อมประสานระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันให้เกิดความร่วมมือร่วมใจประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วย และทำให้การแพทย์แผนไทยประยุกต์พัฒนาต่อไปจนถึงระดับสากล การผสมผสานระบบการแพทย์ทั้งสองนี้ในการบริการด้านสาธารณสุขมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยในการใช้ภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ในการดูแลสุขภาพ การช่วยเหลือประเทศชาติในด้านการลดการเสียดุลทางการค้า การนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ และช่วยให้รัฐบาลสามารถแพร่กระจายความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกไปถึงประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการพัฒนาให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจในวิธีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยการใช้ชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับสภาวะสังคมไทย.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสหเวชศาสตร์และการแพทย์แผนไทยที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรมสุขภาพของคนไทยที่อยู่คู่ชาติไทยตลอดมาว่า

สหเวชศาสตร์คือ การรวมของบรรดาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ทั้งหมด เป็นสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งคณะของเราที่นี่จะมี 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ), สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเราจะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก โดยสาขาที่คนนิยมเรียนมากที่สุดของที่นี่คือ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เนื่องจากการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นระบบใหม่ที่ .เกียรติคุณ นพ.อวย เกตุสิงห์ ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นผู้พัฒนาขึ้นมาโดยมีหลักการสำคัญคือ การนำเอาความเป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาสู่ระบบการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมที่เราเคยมีอยู่แล้ว และนำวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อจะให้มีแนวคิดและหลักการทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเพิ่มขึ้นนี้จะทำให้การแพทย์แผนไทยดั้งเดิมได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดี จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ .เกียรติคุณ นพ.อวย ได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรนี้ได้มีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย 8 แห่งด้วยกัน รวมทั้งที่นี่ด้วย

            ศ.นพ.อดุลย์ กล่าวถึงการแพทย์แผนไทยประยุกต์ต่อว่า โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นสาขาหนึ่งที่ดี น่าสนใจอีก และมีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันจะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากก็ตาม แต่การที่จะรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งหมดจะสิ้นเปลืองงบประมาณมาก และประเทศไทยไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยได้ เพราะฉะนั้นการแพทย์แผนไทยประยุกต์จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยลด หรือแบ่งเบาภาระในเรื่องงบประมาณของประเทศชาติได้ดีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากโรคหลายโรคเป็นโรคที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน โรคจำนวนมากสามารถรักษาหายได้ด้วยการแพทย์แผนประยุกต์ที่มีวิธีการรักษาหลายแบบไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร การนวด การคลอดแบบประยุกต์ เภสัชเวท เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยให้ดีขึ้น หรือหายขาดได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายมากนัก หรืออาจจะไม่ต้องเสียเงินเลยก็ได้ เนื่องจากเป็นการใช้ของที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยหมอคิดว่าทุกสาขาวิชาของสหเวชศาสตร์สามารถพัฒนาไปได้ทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับว่าความสนใจที่จะพัฒนาโดยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก

            “ความเป็นวิทยาศาสตร์ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาทางการแพทย์ เพราะเป็นการสอนให้รู้ถึงระเบียบวิธีวิจัย สถิติ วิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ ที่จะทำให้เราก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามหาทางสนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาโทของเรามีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศในสาขาวิชาที่เรียน เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตัวเอง เนื่องจากขณะนี้งานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศยังมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่าในประเทศแถบเอเชียด้วยกันมีแค่ประเทศอินเดียที่เจริญกว่าเรา เนื่องจากเขาทำเรื่องนี้มากว่าพันปีแล้ว แต่ในแถบประเทศอาเซียนถือว่าประเทศไทยเจริญที่สุดก็ตาม”

.นพ.อดุลย์ กล่าวถึงสาเหตุที่สนใจงานทางด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ และบทบาทความรับผิดชอบในปัจจุบันให้ฟังว่า สาเหตุที่สนใจเนื่องจากเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแพทย์ การดูแลรักษาผู้ป่วยในสาขาต่าง ๆ ซึ่งคนที่เรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์ก็จะต้องรู้จักยาแผนปัจจุบันด้วย เพราะเรามีการนำเรื่องของยาแผนปัจจุบันเข้ามาสอนด้วยเช่นกัน ผมมาอยู่ที่นี่สอนทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อจะได้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในปัจจุบัน หมอมาในฐานะผู้อำนวยการ มีบทบาทในการบริหาร คือทำอย่างไรที่จะทำให้กิจการของทุกสาขาวิชาที่อยู่ในวิทยาลัยแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการแพทย์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเป็นแห่งดียวในประเทศไทยที่มีการเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

            นอกจากนี้ .นพ.อดุลย์ ยังกล่าวถึงสิ่งที่อยากจะทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผมอยากจะพัฒนาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยดูว่าจะทำอย่างไรให้การแพทย์แผนไทยประยุกต์ในบรรดาสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้คือ ต้องการจะพัฒนาทางวิชาการ ด้านความรู้ และการวิจัยให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงพยายามผลักดันให้มีการศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เนื่องจากการศึกษาในระดับปริญญาโท นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องการจะนำความรู้นี้กลับไปใช้ในท้องถิ่นหรือในหน่วยงานที่ทำงาน ซึ่งต่างจากนักศึกษาที่เรียนระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นกับวิชาชีพนี้

            ศ.นพ.อดุลย์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังด้วยว่า ปัญหาที่มีเวลานี้คือ จำนวนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ยังมีน้อย ซึ่งขณะนี้เรากำลังสนับสนุนพัฒนาอาจารย์ในระดับปริญญาตรีที่มีเป็นจำนวนมากให้เรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกต่อไป เพื่ออนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่เราคาดหวังว่าจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพิ่มมากขึ้น 

            สุดท้ายนี้ .นพ.อดุลย์ ในฐานะอาจารย์อาวุโสได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการแพทย์ปัจจุบันว่า การแพทย์ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ดีขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่อาจจะบกพร่องอยู่บ้าง เนื่องจากการแพทย์แผนปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก และการที่จะให้แพทย์คนเดียวรู้ทั้งหมดคงจะเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ประกอบกับในเวลานี้มีแพทย์เฉพาะทางเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ่งที่เรียกว่าการบูรณาการคนทั้งคนเป็นไปด้วยความยากลำบาก สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญของการแพทย์แผนปัจจุบันในทุกประเทศทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะของประเทศไทย แต่สำหรับประเทศไทยที่เป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าระบบบริการสาธารณสุขของไทยนั้นไม่ได้ดูแลคนทั้งคน แต่จะแยกแยะแบ่งเป็นส่วน ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศจะไม่ทำแบบนี้ และในฐานะหมอคนหนึ่ง หมอมองว่าผู้ป่วยคือคนที่ไม่สบาย คือคนที่มีความทุกข์ร้อนเนื่องจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นในระดับใดก็ตาม ซึ่งเราจะต้องพิจารณาเป็นหลายมิติ เช่น กายไม่สบาย ใจไม่สบาย หรือเป็นโรคจิต เป็นต้น ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคทั้งหลายด้วย โดยเราจะทำอย่างไรที่จะให้ความไม่สบายกลับมาเป็นความสบาย เหมือนกับคำกล่าวว่า “treat the man not the disease” คือ เราต้องรักษาผู้ป่วย ไม่ใช่รักษาโรค การรักษาเป็นการรักษาคนซึ่งหมายความว่าต้องรักษาทั้งหมดทุกอย่าง