กทม. ห่วงใยสุขภาพหญิงไทย
สร้างความตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนพฤติกรรม
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เฉลิมพระเกียรติฯ 81 พรรษามหาราชินี” โดยมี นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ชั้น 20 อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “ไขปัญหามะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก” โดยวิทยากรจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยกิจกรรม “เครื่องสำอางปลอดภัย” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้เรื่องสารห้ามใช้ที่อาจมีอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เฉลิมพระเกียรติฯ 81 พรรษามหาราชินี ที่มีการจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. รวม 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ในราคาพิเศษ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และตอกย้ำนโยบายด้านสุขภาพผู้หญิง (Woman We Care 2013) รวมถึงการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเพื่อค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยและอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน และมุ่งสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี ผู้คนมีความสุขตามนโยบายมหานครแห่งความสุขของกรุงเทพมหานคร
ในส่วนของการจัดบริการจะคำนึงถึงความสะดวกของผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยเน้นการตรวจแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จภายในโรงพยาบาล และส่งต่อในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมกรณีพบความผิดปกติในการตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยเจ้าหน้าที่จะนัดหมายและส่งต่อเพื่อรับการตรวจให้เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตากสิน, โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
ด้าน นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย ทำให้เกิดการสูญเสียของประชากรก่อนวัยอันควร และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสถิติสถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ระบุว่า โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงอันดับ 1 คือ มะเร็งเต้านม และอันดับ 2 คือ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม ซึ่งการตรวจคัดกรองร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันนับว่าเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เผยถึงข้อมูลสถิติโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ระบุไว้ว่า พบหญิงไทยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 6,243 คน และมีผู้เสียชีวิตในปีดังกล่าว 2,620 คน หรือเฉลี่ย 7 คนต่อวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 พบตัวเลขหญิงไทยป่วยเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อปีเพิ่มเป็น 9,999 คน และเสียชีวิตในปีดังกล่าว 5,212 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่รุนแรงของไทย
รศ.นพ.วิทยา กล่าวอีกว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัส ดังนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้ติดเชื้อเอชพีวีที่พบบ่อยและง่ายที่สุด แท้จริงแล้วเชื้อเอชพีวีมีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมีประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณ 70% และสายพันธุ์ที่เหลืออีก 30% ซึ่งเนื้อเยื่อของมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีจะมี 2 ชนิดคือ เนื้อเยื่อชนิดผิวเรียบคล้ายเป็นเกล็ด (Squamous Cells Carcinoma) ที่พบบ่อยกว่า และเนื้อเยื่อชนิดผิวเป็นต่อม (Adenocarcinoma)
จากสถิติพบว่า 50% ของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีภายใน 2-3 ปีแรกที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ และสามารถติดเชื้อซ้ำ ๆ ได้ตลอด แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว การตรวจหามะเร็งปากมดลูกจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกช่วงอายุและที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจภายในหามะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการตรวจคัดกรองในปัจจุบันส่วนใหญ่มีโอกาสพลาดการตรวจพบมะเร็งชนิดผิวเป็นต่อมได้ แม้ว่าจะพบน้อยกว่าก็ตาม แต่อันตรายและการรักษายุ่งยากกว่าชนิดผิวเรียบอย่างมาก
รศ.นพ.วิทยา กล่าวต่ออีกว่า กรณีที่ตรวจพบเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกปรากฏอยู่บนแผ่นแก้วที่ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแน่นอน และเพื่อยืนยันว่าเซลล์ผิดปกตินั้นน่าจะเกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูกจริง แพทย์จะทำการตรวจให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดก็คือ การใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก ในทางการแพทย์เรียกว่า Colposcopy และหากผลการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจริง ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไป
การรักษามะเร็งปากมดลูก ถ้ารักษาในระยะก่อนลุกลามจัดเป็นการรักษาที่ค่อนข้างง่ายและไม่ซับซ้อน คือการผ่าตัดแค่ปากมดลูก หรือตัดมดลูกทิ้งก็เพียงพอแล้ว แต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว ความยากของการรักษาจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ต้องทำการผ่าตัดโดยใช้ฝีมือขั้นสูงเพราะมักจะต้องตัดทั้งมดลูก เนื้อเยื่อข้างมดลูก แล้วยังต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกด้วย เพื่อตัดช่องทางการกระจายของมะเร็ง และอาจต้องเสริมการรักษาด้วยการฉายแสงหรือให้เคมีบำบัด หรือให้การรักษาทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งการรักษาเช่นนี้มักจะทำให้ผู้ป่วยส่วนมากได้รับผลข้างเคียงจากการฉายแสง เช่น ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นเลือด ซีดจากการเสียเลือด มีการติดเชื้อที่รุนแรงในทางเดินปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
“วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี อันดับแรกคือ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง เช่น แพปสเมียร์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก ในระยะแรกก่อนลุกลามเป็นมะเร็งแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปีเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์แล้ว หากพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และอีกวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ นั่นคือการฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันที่ต้นเหตุของมะเร็ง จากข้อมูลการศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนเอชพีวีพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงมาก เนื่องจากมีการเติมสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันบางชนิดเป็นส่วนประกอบของวัคซีน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับสูงและออกฤทธิ์ได้นาน” รศ.นพ.วิทยา กล่าว
วัคซีนเอชพีวีมีประโยชน์สูงสุดเมื่อให้ในผู้หญิงที่ไม่เคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่คือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังมีประโยชน์ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อเอชพีวีแล้ว โดยจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันสายพันธุ์ที่ยังไม่ติดเชื้อ หรือสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้
ด้าน นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยว่า จากการสำรวจด้านสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลกพบผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม 1.3 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 4 แสนคนต่อปี ส่วนตัวเลขในไทยพบผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม 1-1.3 หมื่นคนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 4 พันคนต่อปี และยังไม่รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคดังกล่าว
กรณีที่ตรวจพบเชื้อมะเร็งเต้านมในระยะแรก ส่วนใหญ่แล้วแพทย์ผู้ให้การรักษามักเลือกวิธีผ่าตัดนำก้อนเนื้อออก และนำก้อนเนื้อนั้นไปวิเคราะห์ชนิดของเชื้อมะเร็งว่าเป็นชนิดที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้หรือไม่ ในบางรายอาจต้องให้การรักษาอื่น ๆ เสริม เช่น การทำคีโมเทอราปี, การฉายรังสี เป็นต้น 80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 สามารถอยู่ต่อได้เป็น 10 ปี โดยไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคนด้วย
มะเร็งเต้านมมักเกิดที่บริเวณท่อน้ำนม 85% และเกิดที่บริเวณต่อมน้ำนม 15% เมื่อเชื้อมะเร็งเริ่มทวีความรุนแรงมักลุกลามไปยังตับ กระดูก ปอด และสมอง ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรละเลย โดยในช่วงอายุ 20-34 ปี ควรตรวจด้วยตนเองทุกเดือน เมื่ออายุ 35-39 ปี ควรตรวจด้วยแมมโมแกรมเป็นพื้นฐาน โดยตรวจทุก 2 ปี หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนรายที่ในครอบครัวมีประวัติ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพราะอาจต้องตรวจด้วยแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ นพ.สืบวงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเขินอายจึงพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจ โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา หรือบางรายที่เคยตรวจแล้วแต่ไม่ได้ตรวจซ้ำอีกหลังจากที่เวลาผ่านไปนาน ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้กับเชื้อมะเร็งที่แอบแฝงอยู่ลุกลามจนเกิดผลกระทบมากมายและยากที่จะรักษา เนื่องจากเชื้อที่แฝงตัวนั้นใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการออกมาให้เห็น นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นประจำทุกปี