ปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก
อาการปัสสาวะรดที่นอนเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง พบได้บ่อยในเด็กเมือง เราจะถือว่าผิดปกติต่อเมื่อเด็กที่มีอายุเกิน 5 ปี แล้วมีอาการปัสสาวะรดที่นอนหรือเสื้อผ้ามากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อาการดังกล่าวทําให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจและบกพร่องต่อหน้าที่ และไม่ได้เป็นผลจากยาหรือโรคทางกาย
โดยทั่วไปเด็กอายุ 18 เดือน จะสามารถกลั้นปัสสาวะได้ชั่วขณะ เด็กอายุ 2 ปี พอที่จะสื่อให้ผู้ใหญ่ทราบเมื่อจะปัสสาวะ เด็กอายุ 3 ปี จะควบคุมปัสสาวะตอนกลางวันได้และสามารถรอที่จะไปถ่ายในที่ที่เหมาะสมโดยไม่มีปัสสาวะราด เมื่ออายุ 4 ปี เด็กจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะในขณะหลับได้โดยไม่มีปัสสาวะรดที่นอน และเด็กสามารถกลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น หากเด็กที่มีปัสสาวะรดที่นอนหลังอายุ 5 ปี มีอาการหลายครั้งและรบกวนบุคคลรอบข้าง ปัจจุบันอาการปัสสาวะรดที่นอนมักไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ความล่าช้าในพัฒนาการ ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการขับถ่ายปัสสาวะ
2. พันธุกรรม พบว่าเด็กปัสสาวะรดที่นอนร้อยละ 75 มีพ่อแม่หรือญาติคนใดคนหนึ่งมีประวัติปัสสาวะรดที่นอน เด็กประมาณร้อยละ 45 มีพ่อหรือแม่มีประวัติปัสสาวะรดที่นอนมาก่อน
3. ความจุของกระเพาะปัสสาวะ มักพบว่าความจุของกระเพาะปัสสาวะในเด็กกลุ่มนี้น้อยกว่าปกติ และมีความไวต่อการถูกกระตุ้นมากกว่าปกติด้วย กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวขับปัสสาวะออกมาทั้ง ๆ ที่ยังเก็บปัสสาวะไม่เต็มที่
4. ความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ในช่วงกลางคืนระดับฮอร์โมน antidiuretic จะหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้มีปริมาณปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่าเด็กปกติ เด็กจึงปัสสาวะรดที่นอน
5. ปัจจัยทางจิตใจ เด็กที่มีแรงกดดันและมีความเครียดจะมีพฤติกรรมถดถอยและปัสสาวะรดได้ เช่น เด็กย้ายโรงเรียน มีน้องใหม่ ถูกทารุณกรรม เป็นต้น
6. การฝึกขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ฝึกการขับถ่ายเลย หรือฝึกหัดขับถ่ายแต่เข้มงวดจนเกินไป จะทำให้เด็กมีปัญหาปัสสาวะรดที่นอนได้
การรักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนดังกล่าวทำได้โดยการแก้ไขที่สาเหตุหากสามารถตรวจพบสาเหตุ กรณีที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน การรักษาได้แก่
1. การฝึกพฤติกรรมบำบัดแบบมีเงื่อนไข โดยใช้ alarm buzzer เช่น wet-stop, nytone ใช้ติดที่ขอบกางเกงในของเด็ก เมื่อมีปัสสาวะหยดจะมีเสียงดังปลุกให้เด็กตื่นขึ้นมา
2. วิธีการฝึกกลั้นปัสสาวะ (Bladder retention training) ได้ผลดีกรณีกระเพาะปัสสาวะเล็กและโรค persistent detrusor instability โดยให้เด็กกลั้นปัสสาวะ ไม่ให้เด็กไปถ่ายเมื่อปวดปัสสาวะ เริ่มต้นจากการกลั้น
ปัสสาวะหลังปวดปัสสาวะนาน 1 ชั่วโมง จากนั้นเพิ่มเวลานานขึ้นเป็น 1.5, 2, 3-4 ชั่วโมง ตามลำดับ อาจให้เด็กดื่มนำ้แล้วกลั้นปัสสาวะ
3. การรักษาทางยา ถ้าการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดไม่ได้ผลก็พิจารณาให้ยา ยาที่ใช้ได้ผลดีคือ imipramine
จากการรวบรวมข้อมูลในฐานข้อมูลเชิงประจักษ์พบรายงานวิจัย 16 งานวิจัย มีผู้ป่วยเด็กจำนวน 1,643 คน พบว่าการรักษาด้วยการใช้วิธีการฝึกกลั้นปัสสาวะ (Bladder retention training) พบว่าการฝึกการกลั้นปัสสาวะได้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่รักษา และไม่พบการเกิดผลข้างเคียง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการฝึกพฤติกรรมบำบัดแบบมีเงื่อนไข โดยใช้ alarm buzzer หรือการกินยา พบว่าวิธีทั้งสองให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการฝึกกลั้นปัสสาวะอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ใช้วิธีการฝึกกลั้นปัสสาวะ (Bladder retention training) เป็นการฝึกเบื้องต้นควบคู่กับการใช้วิธีอื่นด้วยเสมอ
กล่าวโดยสรุป การฝึกการกลั้นปัสสาวะควรแนะนำเป็นการรักษาแรกในเด็กที่มีปัญหาปัสสาวะรดที่นอน กรณีตรวจไม่พบสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ การรักษาด้วยการฝึกพฤติกรรมบำบัดหรือการใช้ยาให้พิจารณาเป็นการรักษาเสริมเพิ่มเติมจากการฝึกกลั้นปัสสาวะ