ความไม่แน่ชัดในการวินิจฉัยผู้ป่วยทางคดี: ปัญหาทางนิติเวชคลินิกโดยแท้
Uncertained Diagnosis In Trauma: The Medico-Legal Problem Proper
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อคนไข้รายหนึ่งที่กระทำโดยแพทย์หลายคน หลายสาขา หลายครั้ง หลายกลุ่ม อาจเกิดกรณีที่มีความเห็นต่างกัน และหากความต่างดังกล่าวนี้เป็นความต่างที่ “เป็นประเด็นในทางคดี” ย่อมทำให้แพทย์ที่ต้องทำการสรุป (ประเด็นแห่งคดี) เกิดความยุ่งยากหรือลำบากในการสรุป (ประเด็น) ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับความผิดในเรื่อง “ชีวิตและร่างกาย” นั้น สิ่งสำคัญแห่งการตรวจพบ หรือรายงานทางการแพทย์เป็นเอกสารหรือพยานหลักฐานที่สำคัญใน “สำนวนแห่งคดี” โดยเฉพาะเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายเป็นเพียง “ข้อความ” “คำ” หรือ “รายละเอียดในรูปลายลักษณ์อักษรเท่านั้น” สิ่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายก็คือ “เอกสารในทางการแพทย์” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ตามมาตรา 297(8)1 บัญญัติไว้ว่า
“(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน”
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นประการใดก็ตาม เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกรถชน ถูกผลักตกลงมาจากที่สูง ถูกวางยา ฯลฯ แต่สิ่งที่จะปรับเข้าประเด็นแห่งการดำเนินคดีก็คือ ต้องเป็นประการหนึ่งประการใดตามนี้ คือ
ก. ทุพพลภาพ (ตลอดไป)
ข. ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน
ค. ป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
การที่จะทราบว่าเป็นกรณี ก. กรณี ข. หรือกรณี ค. ได้นั้นขึ้นอยู่กับ “เอกสารทางการแพทย์ที่ระบุไว้” เช่น ระบุว่า “ใช้เวลาในการรักษาสองเดือน (หรือประมาณสองเดือนก็ใกล้เคียงกัน)” เป็นต้น ก็จะปรับเข้ากับข้อ ค. ทันที ทำให้ผู้ที่จะนำไปใช้ดำเนินคดี เช่น พนักงานสอบสวนสามารถนำมาประกอบคำฟ้องในสำนวนตามมาตรา 297(8) ได้ทันทีเพื่อเสนอต่อพนักงานอัยการ เป็นต้น
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการแพทย์ก็คือ บางครั้งทางการแพทย์ไม่สามารถที่จะระบุถึงสภาพแห่งการบาดเจ็บที่แท้จริงเพื่อให้เข้ากับ “บทบัญญัติของกฎหมายได้ทุกกรณี” หมายความว่า “หากการตรวจพบอยู่ในสภาพที่ไม่อาจตัดสินใจได้ชัดเจน เช่น ไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ย่อมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ก้ำกึ่งหรือยังไม่ชัดเจนจัดเป็นเกณฑ์สีเทา “Grey Zone” เช่นนี้จะทำให้แพทย์ที่มีหน้าที่สรุปเพื่อทำเอกสาร (ใช้ในทางคดีความ) เกิดความยากลำบาก “กระอักกระอ่วนใจในการทำรายงาน” (ใบรับรองแพทย์) ถึงการบาดเจ็บหรืออันตรายที่ได้รับจากการบาดเจ็บอย่างแท้จริงของผู้ป่วย
……………เมื่อเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันในการวินิจฉัยและความขัดแย้งเป็น “ประเด็นในทางคดี” ว่าจะเป็นคดีที่เข้าข่าย “อันตรายบาดเจ็บสาหัสในทางกฎหมายหรือไม่” เช่นนี้สมควรยิ่งที่จะต้องให้มีการตรวจซ้ำจึงเป็นการดีที่สุด หรือจำต้องขอความเห็นเพิ่มขึ้น (second opinion) ซึ่งในรายนี้ได้ทำการส่งตรวจทางเอกซเรย์ใหม่และขอให้อ่านผลใหม่……………..ฯลฯ
อุทาหรณ์ (รายงานผู้ป่วย 1 ราย) (YH รายมีกระดูกปลายนิ้วแตก)
ผู้ป่วยชาย อายุ 44 ปี มารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยประวัติว่าถูกทำร้ายร่างกาย และบาดเจ็บตามร่างกายหลายตำแหน่ง (ภาพที่ 1)
ประวัติ:
ผู้ป่วยมีเรื่องทะเลาะกันกับชายคู่อริ เวลาประมาณ 20 นาฬิกาเศษ ต่อมาถูกทำร้ายด้วยหมัด (ถูกต่อย)และไม้ (ตี) ผู้ป่วยยกมือและแขนรับเพื่อป้องกันตัว ได้รับบาดเจ็บที่มือ แขน และนิ้ว แต่ไม่ได้สลบ เข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาล (เอกชน) แห่งหนึ่งเมื่อเวลา 00.21 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2556
ตรวจร่างกาย: (โดยแพทย์ที่หน่วยอุบัติเหตุ)
แรกรับการรับรู้ดี (Glasgow Coma Scale = 15 คะแนน)
- แขนและขามีบาดแผลถลอกและฟกช้ำหลายตำแหน่ง (multiple abrasions along the arms and legs)
- บาดแผลถลอกที่ด้านซ้ายของใบหน้าและตอนหน้าของหน้าอกส่วนบน (abrasion at right cheek and upper chest)
- บาดแผลถลอกที่นิ้วเท้าด้านขวา (abrasions at right toes)
- เจ็บมากที่นิ้วนางซ้าย (severe pain at left ring finger)
- บาดแผลถลอกและฟกช้ำตามร่างกายอีกหลายตำแหน่ง (other multiple soft tissue injury)
ผลการตรวจเอกซเรย์ (X Ray):
- Left ring finger: (08/07/13): No fracture or dislocation is seen. (ภาพที่ 2)
แพทย์ผู้ตรวจเห็นว่าน่าจะมีกระดูกแตกที่บริเวณปลายนิ้วนางซ้าย (clinical fracture) จึงได้ให้คำวินิจฉัยว่า “กระดูกส่วนปลายของนิ้วนางซ้ายแตก” (fracture of distal phalanx of left 4th finger) โดยได้รับการรักษาอย่างผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุไว้พลางก่อน แล้วได้นัดผู้ป่วยมาพบแพทย์ทางกระดูกและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ด้วย และนัดพบแพทย์ผู้ตรวจซ้ำอีกในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา (ภาพที่ 3)
ต่อมาผู้ป่วยได้รับการตรวจทั้งจากแพทย์ทางกระดูก (orthopedist) และแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์เนื่องจากเป็นผู้ป่วยทางคดี (นิติเวชคลินิก) หากแต่การที่ไม่ชัดเจนในสิ่งตรวจพบว่า “มีกระดูกปลายนิ้วนางซ้ายแตกหรือไม่” แม้ไม่ส่งผลทางการรักษาเพราะ “หากมีการแตกของกระดูกแต่ไม่เคลื่อนที่” กับ “การที่มีเพียงแต่การบาดเจ็บเท่านั้น” การรักษาก็หาได้แตกต่างกันไม่ แต่อาจมีความแตกต่างในระยะเวลาแห่งการรักษาซึ่งจะมีผลต่อการให้ความเห็นในการหายของการบาดเจ็บคือ มีผลทางนิติเวชศาสตร์นั่นเอง แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์จึงยังคงรอความชัดเจนในการวินิจฉัย
สรุปทางการแพทย์:
1. แพทย์ทางศัลยกรรมกระดูก (Orthopedist) แล้วเห็นว่ามีกระดูกปลายนิ้วนางซ้ายแตก
2. แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ เมื่อดูสภาพแห่งการบาดเจ็บแล้ว อยู่ในเกณฑ์ก้ำกึ่งระหว่างการมีกระดูกแตกที่ปลายนิ้วนางซ้าย หรือไม่มีกระดูกแตก เมื่อได้ดูผลจากการเอกซเรย์ (X Ray) แล้วก็เห็นว่า “ไม่น่าจะมีกระดูกแตก”
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีเอกสาร “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” เพื่อการสรุปการบาดเจ็บกรณีที่ผู้ป่วยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำร้ายผู้ป่วย
เมื่อได้มีการสืบค้นในคราวการนัดติดตามการรักษาผู้ป่วยในวันที่ 3 สิงหาคม 2556 จึงได้ส่งทำการตรวจเอกซเรย์ซ้ำ รวมถึงการขอให้มีการทบทวนการอ่านผลทางเอกซเรย์ใหม่ด้วย
ก. การส่งเอกซเรย์ ครั้งที่ 2: (03/08/13): Unchanged alignment of small fracture of the base of the distal phalanx of the left ring finger. (ภาพที่ 4)
ข. ผลอ่านเอกซเรย์ ครั้งที่ 1 ซ้ำอีกครั้ง: (08/07/13): Radiolucent line at base of distal phalanx of ring finger is seen that could be artifact or fracture. (ภาพที่ 5)
ผู้ป่วยได้มาติดตามการรักษาอีก โดยทั้งแพทย์ทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedist) และแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ได้นัดให้มารับการตรวจและได้ทำการส่งตรวจเอกซเรย์ซ้ำพบว่า มีกระดูกส่วนปลายหักที่ปลายนิ้วนางซ้ายแตก (Unchanged alignment of small fracture of the base of the distal phalanx of the left ring finger) เป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้มีกระดูกส่วนปลายนิ้วนางซ้ายแตกจริง ทำให้แพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์ลงความเห็นได้ง่ายขึ้น
วิเคราะห์และวิจารณ์
ประการที่ 1: การตรวจพบในทางคลินิกบางกรณียากต่อการที่จะลงความเห็น
ในทางการแพทย์นั้นในบางครั้งจะเกิดความไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะการที่จะชี้ชัดถึงสิ่งที่มีอยู่ (ตรวจพบ) นั้นเป็นการยาก หากเทียบกับสีนั้นก็คือไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าเป็น “สีขาว” หรือ “สีดำ” เนื่องจากอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ คือ “สีเทานั่นเอง เทียบเคียง เช่น การอ่านผล Acid Phosphatase Test จากตัวอย่าง (sample) ที่ป้ายจากในช่องคลอด (vagina) เพื่อดูว่าจะมีปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อสนับสนุนการตรวจพบส่วนประกอบของน้ำอสุจิด้วยวิธีเคมีนั้นต้องดูว่ามีสีม่วงเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อดูปฏิกิริยาแห่งสีจริง ๆ ในบางครั้งบอกได้ยากว่ามีสีม่วงเกิดขึ้นหรือไม่ในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
ดังนั้น ในการอ่านผลเอกซเรย์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งบางครั้งไม่สามารถที่จะระบุได้ว่ามีกระดูกหักหรือไม่
กรณีอุทาหรณ์:
ตามอุทาหรณ์นี้พบว่า ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกทำร้ายมาด้วยอาวุธ (ไม้) แต่จากการตรวจพบว่ามีบาดแผลมากหลายตำแหน่ง ซึ่งบาดแผลที่มีความสำคัญที่สุดคือ “บาดแผลที่บริเวณปลายนิ้วนางของมือซ้ายมีกระดูกแตกหรือไม่” ซึ่งในประเด็นนี้มีความเห็นแตกต่างกัน
ก. แพทย์ทางอุบัติเหตุ (แพทย์ด่านแรก) และแพทย์ทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เห็นว่า มีกระดูกหัก
ข. แพทย์ทางรังสี เห็นว่า “ไม่มีกระดูกหัก” (แตก)
ค. แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ดูจากเอกซเรย์และผลอ่านของรังสีแพทย์ เห็นว่า “ไม่มีกระดูกหัก” แต่ไม่มั่นใจในผลการตรวจเช่นเดียวกัน
โดยหลักเมื่อยังไม่มั่นใจในผลที่ตรวจจำเป็นต้องรอเพื่อการวินิจฉัยให้ถูกต้องที่สุดก่อนลงความเห็นในทางคดี (ในกรณีนี้ต่อมาได้มีการส่งให้อ่านเอกซเรย์ซ้ำและมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ใหม่ซึ่งยืนยันการมีกระดูกแตกที่ปลายนิ้วนางซ้าย)
ประการที่ 2: ความสำคัญในทางนิติเวชศาสตร์และในทางคดี
กระดูกที่แตกหรือหักหากมีเพียงเล็กน้อย ยิ่งหากไม่มีการเคลื่อนที่ของกระดูกด้วยแล้ว “การรักษา” หรือการดำเนินการ “ทางคลินิก” อาจไม่มีความแตกต่างกันเลย ดังเช่นในกรณีตามอุทาหรณ์ เพราะการรักษาอาจกระทำเพียงการทำให้กระดูกนิ้วไม่เคลื่อนไหวได้ง่ายเท่านั้น (splinting) โดยการดามกระดูก (finger split) หรือโดยการจับมัดคู่กับนิ้วข้างเคียง (buddy) ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
แต่ในทางคดีแล้วเรื่องกระดูกหัก (แตก) นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยความสำคัญในทางคดีนั้นอยู่ที่การลงความเห็นของแพทย์เพื่อแสดงถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บ เพื่อที่พนักงานสอบสวนหรือ “ผู้ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลกรณีที่มีการฟ้องร้องเอง” นั้นจะระบุถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ได้รับ ทั้งนี้เพราะในบทสาระบัญญัติของกฎหมาย1 กล่าวคือ
ทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายต่อกาย (มาตรา 391)
มาตรา 3911 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำร้ายร่างกายเป็นอันตรายต่อกาย (มาตรา 295)
มาตรา 2951 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำร้ายร่างกายเป็นอันตรายบาดเจ็บสาหัส (มาตรา 297)
มาตรา 2971 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่กล่าวอ้างว่า การที่จะแสดงถึงความรุนแรงของสภาพแห่งการบาดเจ็บที่ได้รับนั้น มิใช่ว่าจะต้องอยู่ที่ “ต้องมีกระดูกหักเท่านั้น” แต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น
ก. อาจมีการบดบี้ทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้ได้รับบาดเจ็บแต่ตัวกระดูกก็ไม่มีการหัก
ข. การที่มีเส้นเอ็นฉีกขาดแต่กระดูกมิได้แตกหรือหัก
ค. การมีการบาดเจ็บและมีเลือดออก เช่น เลือดที่ออกในข้อเข่า เป็นต้น
ง. การที่มีเลือดออกในช่องอกหรือช่องท้อง
จ. อื่น ๆ
สิ่งที่กล่าวมาแสดงว่ามีการบาดเจ็บโดยไม่มีกระดูกแตกหรือหัก แต่ต้องถือว่าเป็นอันตรายบาดเจ็บอย่างรุนแรงซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็น “อันตรายบาดเจ็บสาหัส” แล้ว
อธิบาย: โดยทั่วไปจะเป็นดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง คือ
กรณีที่ 1: มีกระดูกหักถือเป็นการบาดเจ็บรุนแรง
กรณีที่ 2: มิได้มีกระดูกหักแต่มีเส้นเอ็นขาด มีเลือดออกในข้อ มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ฯลฯ ก็ถือเป็นอันตรายที่รุนแรงได้
แต่กรณีที่การกล่าวอ้างถึงการบาดเจ็บอย่างรุนแรงโดยการกระทำของคู่กรณีนั้น คู่กรณีย่อมต้องมีข้อต่อสู้อย่างเต็มที่และหากมีการกล่าวอ้างถึงเพียง “การบาดเจ็บที่ไม่อาจตรวจพบได้” เป็นเพียงในลักษณะที่ “เจ็บ” หรือในทางการแพทย์เรียกว่า “Subjective Symptom” เท่านั้นแล้ว ในบางครั้งแพทย์ยากที่จะพิสูจน์ว่า “มีอยู่จริงหรือไม่” และที่สำคัญก็คือ หากมิได้มีอยู่จริงจะมิเท่ากับว่า “แพทย์ถูกผู้ป่วยใช้เป็นเครื่องมือในทางอาญา” ซึ่งต้องถือว่าเป็นการไม่ชอบธรรมอย่างแน่แท้ อีกทั้งการพิสูจน์ในคดีอาญานั้น โจทก์จำต้องพิสูจน์จนกระทั่งเห็นเป็นที่ประจักษ์ (unresonable doubt) หากมีข้อสงสัยย่อมต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย
ประการที่ 3: กรณีเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน
ในรายดังกล่าวตามกรณีอุทาหรณ์นี้ เมื่อเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันในการวินิจฉัยและความขัดแย้งเป็น “ประเด็นในทางคดี” ว่าจะเป็นคดีที่เข้าข่าย “อันตรายบาดเจ็บสาหัสในทางกฎหมายหรือไม่” เช่นนี้สมควรยิ่งที่จะต้องให้มีการตรวจซ้ำจึงเป็นการดีที่สุด หรือจำต้องขอความเห็นเพิ่มขึ้น (second opinion) ซึ่งในรายนี้ได้ทำการส่งตรวจทางเอกซเรย์ใหม่และขอให้อ่านผลใหม่ คือ
ก. การให้อ่านผลใหม่ เพราะเหตุแห่งความสงสัยในผลการอ่านในวันที่ผู้ป่วยมารับการตรวจครั้งแรกซึ่งได้ผลอ่านยังไม่แน่ชัด ได้ผลอ่านดังนี้ “Radiolucent line at base of distal phalanx of ring finger is seen that could be artifact or fracture” ซึ่งผลที่ได้ยังไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน
ข. การส่งเอกซเรย์ซ้ำ (25 วันจากวันแรก) ได้ผลอ่านชัดเจนว่า “Unchanged alignment of small fracture of the base of the distal phalanx of the left ring finger” แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วมีกระดูกส่วนปลายนิ้วนางซ้ายแตกจริง
สรุปได้ว่าผู้ป่วยตามอุทาหรณ์รายนี้นับว่าได้ความกระจ่างจากการตรวจในครั้งหลังทำให้ง่ายต่อแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ที่จะทำการสรุปผลให้กับพนักงานสอบสวนต่อไป
ประการที่ 4: ผลสรุปในเอกสารเพื่อให้กับพนักงานสอบสวน (รายการที่แพทย์ได้ตรวจและความเห็น)
ในรายนี้เมื่อผลทางคดีไม่ชัดเจน แพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์จึงยังคงรอผลการตรวจอีกครั้ง ทั้งจากแพทย์ทางกระดูก “ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์” และ “ผลทางรังสี” ที่สมควรจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ซึ่งในรายนี้นับว่าเป็นการโชคดีที่ผลในครั้งหลังนี้สนับสนุนการมีกระดูกแตก (fracture) ทำให้แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์สามารถสรุปผลให้กับพนักงานสอบสวนตาม “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” ได้ง่าย โดยในรายนี้ต้องถือว่า “มีกระดูกแตก” ซึ่งส่งผลต่อรูปคดีคือ เป็นการที่ผู้ป่วยถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดกระดูกแตก (ในทางคดีโดยพนักงานสอบสวนจึงเข้าข่ายกรณีบาดเจ็บสาหัส)
หมายเหตุ:
คำว่า “สาหัส” แพทย์จะไม่เป็นผู้ใช้หรือเขียนลงในเอกสาร “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” ในส่วน “รายการที่แพทย์ได้ตรวจและความเห็น” โดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะ “คำว่าสาหัสเป็นคำวินิจฉัย”2
ประการที่ 5: ความลำบากใจของแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์เกี่ยวกับคำวินิจฉัยทางคลินิก
หลายครั้งที่แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์รู้สึกหนักใจในการตรวจของแพทย์หลายฝ่าย เช่น หากแพทย์ทางรังสียืนยันว่า “ไม่มีกระดูกหักจากเอกซเรย์” แต่แพทย์ทางกระดูก (ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์) ยืนยันโดยใช้คำว่า “Clinical Fracture” (ซึ่งพบได้เป็นประจำ) เช่นนี้และแจ้งกับคนไข้เช่นนั้นด้วยว่า “มีกระดูกหัก” ทำให้แพทย์ที่จะลงความเห็นในทางคดีทำได้ลำบากเพราะขาดหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดแจ้ง แต่หากมีแพทย์ทางคลินิกหลายท่าน ลงความเห็นในเรื่อง “clinical fracture” สอดคล้องกันก็อาจเชื่อได้ว่ามีกระดูกหักจริงได้ และถือว่าเป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มีความเห็นตรงกัน
หมายเหตุ:
การลงความเห็นในทางคดีนั้นบางครั้งและบางคนจะเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายจะให้ความเห็นอย่างใดก็ได้ ในประการนี้จึงต้องขอเรียนว่า แพทย์จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานแห่งวิชาชีพเวชกรรม3,4,5 อีกทั้งการลงความเห็นของแพทย์ในแต่ละครั้งต้องไม่ลืมว่า “มิใช่ว่าจะมีแพทย์ท่านนั้นเพียงท่านเดียวที่สามารถกระทำได้” เพราะผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจให้แพทย์ท่านอื่นที่ตรวจและอาจมีหลักฐานทางการแพทย์จากการสืบค้นมายืนยัน เช่น การนำเอกซเรย์ที่ฉายในมุมที่เห็นกระดูกหักมายืนยัน เป็นต้น ทำให้มีผลต่อแพทย์ที่ลงความเห็นว่ากระดูกไม่หักได้
สรุป
การตรวจผู้ป่วยทางคดี (นิติเวชคลินิก) ในเวชปฏิบัตินั้น มีความสำคัญยิ่งเพราะเอกสารที่สรุปเพื่อใช้ประกอบในทางคดีนั้น จะเป็นพยานหลักฐานที่จะใช้ประกอบในการดำเนินคดี เช่น พนักงานสอบสวนจะปรับการดำเนินคดีว่าอยู่ในระดับใด ประการใด โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย หมายความว่าอาจเป็นคดีทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายต่อกาย ทำร้ายร่างกายเป็นอันตรายต่อกาย หรือทำร้ายร่างกายเป็นอันตรายบาดเจ็บสาหัส ซึ่งข้อสรุปเป็นเอกสารโดยแพทย์นั้นสมควรยิ่งที่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานหรือพื้นฐานแห่งการตรวจพบและการสืบค้นนั้นเอง ทั้งนี้แพทย์ต้องไม่ลืมว่า “แพทย์ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายอาญา. http://www.dopa.go.th/dopanew/law/02.pdf
2. สงกรานต์ นิยมเสน, ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เอื้อ บัวหลวง. พยานทางการแพทย์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2514: 3.
3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/ 2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม 2555)”.
4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม 2555.
5. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.