ตรวจความหนาแน่นกระดูกซ้ำ และผลลัพธ์การพยากรณ์กระดูกหัก

  ตรวจความหนาแน่นกระดูกซ้ำ และผลลัพธ์การพยากรณ์กระดูกหัก  

JAMA. 2013;310(12):1256-1262.

            บทความวิจัยเรื่อง Repeat Bone Mineral Density Screening and Prediction of Hip and Major Osteoporotic Fracture รายงานว่า การตรวจคัดกรองกระดูกพรุนจากความหนาแน่นกระดูก (bone mineral density - BMD) เป็นวิธีการที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่อายุมาก แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าการตรวจ BMD ซ้ำช่วยการประเมินความเสี่ยงกระดูกหักดีขึ้นหรือไม่

            นักวิจัยศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงของ BMD หลัง 4 ปีให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านความเสี่ยงกระดูกหักจาก BMD ที่เส้นฐานหรือไม่ และประเมินการเปลี่ยนแปลงของการจัดกลุ่มความเสี่ยงกระดูกหักหลังตรวจ BMD ครั้งที่สอง

            นักวิจัยศึกษาจากผู้ชาย 310 ราย และผู้หญิง 492 รายในการศึกษา Framingham Osteoporosis Study ซึ่งได้ตรวจ BMD กระดูกคอสะโพกสองครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1987-1999 โดยให้ความเสี่ยง hip fracture หรือ major osteoporotic fracture จนถึงปี ค.ศ. 2009 หรือ 12 ปีหลังการตรวจ BMD ครั้งที่สองเป็นมาตรวัดผลลัพธ์หลัก

ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุเฉลี่ย 74.8 ปี และ mean (SD) BMD change เท่ากับ -0.6% ต่อปี (1.8%) จากมัธยฐานการติดตาม 9.6 ปี มีผู้เข้าร่วมวิจัย 76 รายเกิด hip fracture และ 113 รายเกิด major osteoporotic fracture โดย percent BMD change รายปีต่อ SD ที่ลดลงสัมพันธ์กับความเสี่ยง hip fracture (hazard ratio [HR], 1.43 [95% CI, 1.16-1.78]) และ major osteoporotic fracture (HR, 1.21 [95% CI, 1.01-1.45]) หลังปรับตาม BMD ที่เส้นฐาน        จากการติดตามที่ 10 ปี พบว่า SD ที่ลดลงแต่ละ 1 ในpercent BMD change รายปีเทียบกับ mean BMD change สัมพันธ์กับกระดูกหักที่เพิ่มขึ้น 3.9 รายต่อ 100 คน ผลจากการวิเคราะห์เส้นโค้ง receiver operating characteristic (ROC) ชี้ว่า การเพิ่ม BMD change ในโมเดลที่ใช้ BMD ที่เส้นฐานไม่ทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย area under the curve (AUC) เท่ากับ 0.71 (95% CI, 0.65-0.78) สำหรับโมเดลที่ใช้ BMD เส้นฐานเทียบกับ 0.68 (95% CI, 0.62-0.75) สำหรับโมเดลที่ใช้ BMD percent change นอกจากนี้การเพิ่ม BMD change ในโมเดลที่ใช้ BMD เส้นฐานก็ไม่ทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (AUC, 0.72 [95% CI, 0.66-0.79]) เมื่อใช้ net reclassification index พบว่า การตรวจ BMD ครั้งที่สองมีสัดส่วนผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการจัดกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มความเสี่ยงสูงต่อ hip fracture เพิ่มขึ้น 3.9% (95% CI, -2.2% ถึง 9.9%) ขณะที่ลดสัดส่วนการจัดเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำเท่ากับ -2.2% (95% CI, -4.5% ถึง 0.1%)

            ข้อมูลจากผู้ชายและผู้หญิงอายุเฉลี่ย 75 ปี ซึ่งไม่ได้รับการรักษาพบว่า การตรวจ BMD ซ้ำหลัง 4 ปีไม่ได้ช่วยให้การพยากรณ์ hip fracture หรือ major osteoporotic fracture ดีขึ้น การตรวจ BMD ซ้ำภายใน 4 ปี เพื่อปรับปรุงการจำแนกความเสี่ยงกระดูกหักจึงอาจไม่จำเป็นในผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุนี้