การตายระยะยาวหลังตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตายระยะยาวหลังตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

N Engl J Med 2013;369:1106-1114.

บทความเรื่อง Long-Term Mortality after Screening for Colorectal Cancer อ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบชี้ว่า การตรวจหาเลือดในอุจจาระลดการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาที่การตรวจยังคงมีประโยชน์ รวมถึงผลลัพธ์จำเพาะตามอายุและเพศ

นักวิจัยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมวิจัย 46,551 รายซึ่งมีอายุระหว่าง 50-80 ปีที่เข้าร่วมในการศึกษา Minnesota Colon Cancer Control Study ได้รับการดูแลมาตรฐาน (กลุ่มควบคุม) หรือตรวจเลือดในอุจจาระปีละครั้งหรือสองปีครั้ง การตรวจคัดกรองมีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1976-1982 และระหว่างปี ค.ศ. 1986-1992 โดยนักวิจัยได้ใช้ National Death Index เพื่อปรับข้อมูลสถานะของผู้เข้าร่วมวิจัยและระบุสาเหตุการตายจนถึงปี ค.ศ. 2008

มีผู้เข้าร่วมวิจัยเสียชีวิต 33,020 ราย (70.9%) จากการติดตามระยะ 30 ปี โดย 732 รายเกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ 200 รายจาก 11,072 ราย (1.8%) ในกลุ่มตรวจปีละครั้ง, 237 รายจาก 11,004 ราย (2.2%) ในกลุ่มตรวจสองปีครั้ง และ 295 รายจาก 10,944 ราย (2.7%) ในกลุ่มควบคุม การตรวจคัดกรองลดการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (relative risk ของการตรวจปีละครั้งเท่ากับ 0.68; 95% confidence interval [CI], 0.56-0.82 และ relative risk ของการตรวจสองปีครั้งเท่ากับ 0.78; 95% CI, 0.65-0.93) ระหว่าง 30 ปีของการติดตาม อย่างไรก็ดี ไม่พบการลดลงของการตายทุกสาเหตุ (relative risk ของการตรวจปีละครั้งเท่ากับ 1.00; 95% CI, 0.99-1.01 และ relative risk ของการตรวจสองปีครั้งเท่ากับ 0.99; 95% CI, 0.98-1.01) การลดลงของการตายเนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เห็นได้ชัดกว่าในผู้ชายเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มที่ตรวจสองปีครั้ง

ผลของการตรวจหาเลือดในอุจจาระต่อการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังคงมีผลหลัง 30 ปี แต่ไม่มีผลต่อการตายจากทุกสาเหตุ การลดลงของการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังสนับสนุนผลลัพธ์ของการตัดติ่งเนื้อที่ผนังลำไส้ใหญ่ด้วย