ผลลัพธ์ Aliskiren ต่อการลุกลามโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยภาวะก่อนความดันเลือดสูง
JAMA. 2013;310(11):1135-1144.
บทความเรื่อง Effect of Aliskiren on Progression of Coronary Disease in Patients with Prehypertension: The AQUARIUS Randomized Clinical Trial รายงานว่า การลดความดันเลือดและการยับยั้ง renin-angiotensin-aldosterone system เป็นเป้าหมายในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็ง อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ของการยับยั้ง renin ต่อการลุกลามของโรคหลอดเลือดหัวใจยังไม่มีการศึกษามาก่อน
นักวิจัยศึกษาผลของการยับยั้ง renin ด้วย aliskiren ต่อการลุกลามของภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว (Aliskiren Quantitative Atherosclerosis Regression Intravascular Ultrasound Study) โดยเปรียบเทียบ aliskiren กับยาหลอกในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ 613 ราย ซึ่งมีความดันเลือดซิสโตลิกระหว่าง 125-139 mmHg (ภาวะก่อนความดันเลือดสูง) และปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดอีก 2 ตัว การศึกษามีขึ้นในโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลชุมชน 103 แห่ง ในยุโรป ออสเตรเลีย ตลอดจนภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ (รวบรวมระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2009 ถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 และสิ้นสุดการติดตามในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2013)
ผู้เข้าร่วมวิจัยได้ตรวจ intravascular ultrasound (IVUS) หลอดเลือดหัวใจ และสุ่มให้ได้รับ aliskiren 300 มิลลิกรัม (n = 305) หรือยาหลอก (n = 308) แบบยารับประทานเป็นเวลา 104 สัปดาห์ การลุกลามวัดจากการตรวจ IVUS ซ้ำหลังรักษาแล้วอย่างน้อย 72 สัปดาห์ โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงของ percent atheroma volume (PAV) จากเส้นฐานถึงสิ้นสุดการศึกษาเป็น primary efficacy parameter และการเปลี่ยนแปลงของ atheroma volume (TAV) และร้อยละของผู้เข้าร่วมวิจัยที่มี atheroma regression เป็น secondary efficacy parameter รวมถึงได้ประเมินผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยและความทนต่อยา
มีข้อมูลผลตรวจอัลตราซาวนด์ที่เส้นฐานและการติดตามในผู้เข้าร่วมวิจัย 458 ราย (74.7%) โดยพบว่า PAV ซึ่งเห็น primary IVUS efficacy parameter ไม่แตกต่างกันระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัยที่รักษาด้วย aliskiren (-0.33%; 95% CI, -0.68% ถึง 0.02%) และยาหลอก (0.11%; 95% CI, -0.24% ถึง 0.45%) (between-group difference, -0.43% [95% CI, -0.92% ถึง 0.05%]; p = 0.08) สอดคล้องกับ TAV ซึ่งเป็น secondary IVUS efficacy parameter ที่ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับ aliskiren (-4.1 mm3; 95% CI, -6.27 ถึง -1.94 mm3) และยาหลอก (-2.1 mm3; 95% CI, -4.21 ถึง 0.07 mm3) (between-group difference, -2.04 mm3 [95% CI, -5.03 ถึง 0.95 mm3]; p = 0.18) และไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญด้านสัดส่วนผู้เข้าร่วมวิจัยที่เกิดการลดลงของ PAV (56.9% vs 48.9%; p = 0.08) และ TAV (64.4% vs 57.5%; p = 0.13) ในกลุ่ม aliskiren และกลุ่มยาหลอก
ข้อมูลจากการศึกษาในผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะก่อนความดันเลือดสูงและเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชี้ว่า การรักษาด้วย aliskiren เมื่อเทียบกับยาหลอกแล้วไม่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นหรือชะลอการลุกลามของการแข็งตัวของหลอดเลือดหัวใจ ผลลัพธ์นี้ไม่สนับสนุนการใช้ aliskiren เพื่อลดหรือป้องกันการลุกลามของภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดหัวใจ