CABG และ PCI ในผู้ป่วยเบาหวาน

CABG และ PCI ในผู้ป่วยเบาหวาน

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 13 September 2013

            บทความเรื่อง Comparison of Coronary Artery Bypass Surgery and Percutaneous Coronary Intervention in Patients with Diabetes: A Meta-Analysis of Randomised Controlled Trials รายงานว่า ทางเลือกการรักษาระหว่าง coronary artery bypass surgery (CABG) และ percutaneous coronary intervention (PCI) สำหรับการทำ revascularization ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีหลอดเลือดหัวใจตีบหลายจุดซึ่งมีสัดส่วนราว 25% ของการทำ revascularization ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน  นักวิจัยจึงได้ศึกษาผลต่างด้านการตายจากทุกสาเหตุระหว่างผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ทำ CABG หรือ PCI ด้วย systematic review และ meta-analysis จากการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบ CABG และ PCI โดยรวมรวมข้อมูลจาก Medline, Embase และ Cochrane Central Register of Controlled Trials จากวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1980 ถึงวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2013 สำหรับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ       

งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็นงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานและมีหลอดเลือดหัวใจตีบหลายจุด และสุ่มให้ผู้เข้าร่วมวิจัยทำ CABG (ด้วยหลอดเลือดแดงในอย่างน้อย 80% ของผู้เข้าร่วมวิจัย) หรือ PCI (ด้วยขดลวดในอย่างน้อย 80% ของผู้เข้าร่วมวิจัย) และแยกรายงานผลลัพธ์ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีระยะการติดตามอย่างน้อย 12 เดือน การคำนวณ risk ratios (RR) และ 95% CIs สำหรับข้อมูลแบบ pooled data ทำด้วย random-effects models และประเมินความแตกต่างด้วย I2 ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การตายทุกสาเหตุในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ทำ CABG เทียบกับผู้ป่วยที่ทำ PCI จากการติดตามที่ 5 ปี (หรือนานที่สุด)

            งานวิจัยที่นำมาศึกษามีจำนวน 8 ชิ้น รวมผู้เข้าร่วมวิจัย 7,468 ราย ซึ่ง 3,612 รายในจำนวนนี้เป็นโรคเบาหวาน การศึกษา RCTs 4 ชิ้น (BMS; ERACI II, ARTS, SoS, MASS II) ใช้ขดลวดธรรมดา และอีก 4 ชิ้น (DES; FREEDOM, SYNTAX, VA CARDS, CARDia) ใช้ขดลวดชนิดเคลือบยา จากการติดตามเฉลี่ย 5 ปี (หรือนานที่สุด) พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งทำ CABG มีการตายจากทุกสาเหตุต่ำกว่าผู้ที่ทำ PCI (RR 0.67, 95% CI 0.52-0.86; p = 0.002; I2 = 25%; 3,131 patients, eight trials) ขณะที่ผลลัพธ์ในผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานไม่พบประโยชน์ด้านการตาย (1.03, 0.77-1.37; p = 0.78; I2 = 46%; 3,790 patients, five trials; p interaction = 0.03)    ทั้งนี้นักวิจัยไม่พบความแตกต่างด้านผลลัพธ์จากการทำ PCI ด้วยขดลวดธรรมดาหรือขดลวดชนิดเคลือบยา และไม่สามารถระบุสาเหตุชัดเจนของ heterogeneity ในกรณีที่พบ

            การทำ revascularization ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีหลอดเลือดตีบตันหลายจุดด้วย CABG ลดการตายระยะยาวได้ประมาณหนึ่งในสามเทียบกับการทำ PCI ด้วยขดลวดธรรมดาหรือขดลวดชนิดเคลือบยา ทำให้ CABG เป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้