รู้ทัน ‘วัยทอง’

รู้ทัน ‘วัยทอง’

 

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 พบประชากรโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 7,180 ล้านคน ในจำนวนนี้พบว่ามีอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 12.8 และทางองค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2566) ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านคน ทำให้ประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีมากกว่า 1,100 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2593 ประชากรผู้สูงอายุอาจมีถึงร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด
            สำหรับประเทศไทย ตัวเลขล่าสุดมีประชากรทั้งประเทศประมาณ 67 ล้านคน อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีถึงร้อยละ 11.9 หรือประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุเพศหญิงประมาณร้อยละ 55.6 หรือ 4.5 ล้านคน
            รศ.พญ.มยุรี จิรภิญโญ หัวหน้าหน่วยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยความหมายของสังคมผู้สูงอายุ หมายถึง ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ อัตราการเกิดน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันนิยมครองสถานะโสดกันมากขึ้น แต่งงานช้าลง มีการคุมกำเนิดที่ดีขึ้น การแพทย์ดีขึ้นทำให้อัตราตายลดลง และมีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยอายุขัยเฉลี่ยของหญิงไทยจะอยู่ที่ 73 ปี เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 71 ปี
            เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แน่นอนว่าโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย มีการสำรวจพบว่าในวัย 60-69 ปี เป็นโรคเรื้อรังถึงร้อยละ 69.9 และร้อยละ 83.3 ในวัย 90 ปี จึงต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อที่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยจะได้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

รศ.พญ.มยุรี กล่าวอีกว่า หญิงไทยเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู หรือที่เรียกกันว่า ‘วัยทอง’ มักพบปัญหาหลายประการด้วยกัน โดยอาการที่นำมาก่อนประมาณ 2-3 ปี มีตั้งแต่ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ เริ่มเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานของรังไข่ มีการสร้างฮอร์โมนลดลง และเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูอาจมีภาวะต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ภาวะที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะเล็ด กลั้นไม่อยู่ ทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย เนื่องจากเยื่อบุต่าง ๆ บางลง ขณะเดียวกันผิวหนังจะแห้งและมีอาการคันร่วมด้วย

“อาการที่เกิดขึ้นในช่วงวัยทองดังที่กล่าวมานี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกราย บางรายอาจเป็นมาก บางรายอาจเป็นน้อย เช่น อาการร้อนวูบวาบ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่ามีอาการมากน้อยระดับไหน โดยอาการส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงกลางคืน ทั้งอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก นอนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำ พอนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นเช้าก็จะไม่สดชื่นแจ่มใส อารมณ์ไม่ดี หากอาการเหล่านี้เป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน และถ้าไม่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะรักษาด้วยการให้ฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มที่มีอาการร้อนวูบวาบ โดยฮอร์โมนนอกจากจะช่วยรักษาอาการร้อนวูบวาบแล้ว ในรายที่มีอาการหงุดหงิด เฉื่อยชา เบื่อหน่าย การให้ฮอร์โมนก็อาจช่วยได้เช่นกัน” 

            นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่วัยทองยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกได้ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้กระดูกบางลงและมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกหักได้ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ซึ่งเมื่อเกิดอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยคงไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าเป็นมาก ๆ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อาจต้องพิจารณาให้ฮอร์โมนในการรักษา โดยเฉพาะในรายที่อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่ทั้งนี้การใช้ฮอร์โมนจะต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

“การเปลี่ยนแปลงของกระดูกเป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยนี้ ซึ่งผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เนื่องมาจากลักษณะทางกรรมพันธุ์และฮอร์โมนที่แตกต่างกัน โดยฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ช่วงที่มีประจำเดือน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นจะมีผลดีต่อกระดูก แต่เมื่อหมดประจำเดือนจะไม่มีการสร้างฮอร์โมนตัวนี้ จึงทำให้การทำลายกระดูกเกิดเร็วขึ้น ในช่วง 5 ปีแรกผู้หญิงจะมีการทำลายกระดูกค่อนข้างเร็ว คนที่มีการสะสมของมวลกระดูกได้ไม่ดีตั้งแต่ในวัยเด็ก โอกาสเกิดกระดูกบาง กระดูกพรุน จะเร็วกว่าปกติ แต่เราสามารถชะลอการสูญเสียของมวลกระดูกให้ช้าลงได้ด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ๆ ในบางราย การรับประทานอาหารอาจไม่เพียงพอ อาจต้องรับประทานแคลเซียมเสริม ส่วนในรายที่กระดูกพรุนแล้วจะมียารักษาสำหรับโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะเพื่อลดการทำลายของกระดูก ซึ่งยาบางตัวจะมีคุณสมบัติทั้งลดการทำลายและเพิ่มการสร้างมวลกระดูก หรือในบางรายอาจมีการพิจารณาให้ฮอร์โมนโดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุยังน้อยดังที่ได้กล่าวแล้วก็อาจจะช่วยลดโอกาสของกระดูกพรุนและกระดูกหักได้”

แม้การให้ฮอร์โมนจะมีผลดีแต่ก็อาจมีผลเสียได้ ในปัจจุบันองค์กรที่เกี่ยวกับวัยทองจึงได้ออกแนวทางปฏิบัติการให้ยาสำหรับผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยมีข้อกำหนดการให้ฮอร์โมน โดยจะให้เฉพาะช่วงที่มีอาการร้อนวูบวาบที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือหมดระดูเร็วกว่ากำหนด คือก่อนอายุ 40 ปี โดยหมดเองตามธรรมชาติ หรือถูกตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรือในรายที่มีอาการช่องคลอดแห้ง เป็นต้น โดยจะพิจารณาให้ขนาดยาฮอร์โมนที่ต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษาอาการได้ และให้ระยะเวลาสั้นที่สุดคือเมื่อไม่มีอาการแล้ว สามารถหยุดยาได้ แต่ถ้าในรายที่หมดระดูเร็วกว่ากำหนดจะพิจารณาให้ถึงอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่หมดระดู คือประมาณอายุ 50 ปี และถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า แพทย์จะให้ยาต้านซึมเศร้า หรือปวดเมื่อยตามตัว แพทย์จะให้ยาแก้ปวดเมื่อย ซึ่งเป็นการให้ยารักษาตามอาการแทนการให้ฮอร์โมน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการให้ฮอร์โมน แพทย์จะต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านม ตรวจภายในอย่างละเอียดก่อน เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือหมดระดูมานานกว่า 10 ปี ดังนั้น การให้ฮอร์โมนในผู้หญิงวัยนี้จึงต้องมีข้อบ่งชี้ ต้องไม่มีข้อห้ามใช้ และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

 รศ.พญ.มยุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันวัยทองโลกซึ่งตรงกับวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี แต่ละประเทศทั่วโลกจะมีการจัดงาน ซึ่งในปีนี้สมาคมวัยหมดระดูนานาชาติ (International Menopause Society) ร่วมกับสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย จัดให้มีการรณรงค์ดูแลสุขภาพในสตรีวัยหมดระดูขึ้น ซึ่งประเด็นหลักที่จะรณรงค์ในแต่ละปีนั้นแตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้ประเทศไทยและทางสมาคมวัยหมดระดูนานาชาติจัดงานขึ้นภายใต้หัวข้อ 'Oncology in midlife and beyond' รณรงค์เกี่ยวกับการดูแล ป้องกัน และลดความเสี่ยงให้พ้นจากโรคมะเร็งซึ่งพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ไม่ว่าทั้งหญิงและชาย นอกจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน เป็นต้น
            โดยข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามะเร็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 (ร้อยละ 20-25) รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 35-40 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศไทยพบเป็นสาเหตุการตายได้เป็นอันดับ 1 โดยมีสตรีที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณร้อยละ 20-25 ในแต่ละปี

สำหรับมะเร็ง 10 อันดับแรกที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านมร้อยละ 37 มะเร็งปากมดลูกร้อยละ 14.4 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักร้อยละ 8.1 มะเร็งปอดร้อยละ 6.8 มะเร็งตับและท่อน้ำดีร้อยละ 4.0 มะเร็งรังไข่ร้อยละ 3.7 มะเร็งมดลูกร้อยละ 3.0 มะเร็งช่องปากร้อยละ 2.9 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองร้อยละ 2.4 และมะเร็งไทรอยด์ร้อยละ 2.3 ส่วนสาเหตุการตายจากมะเร็งในหญิงไทยที่พบได้บ่อยคือ มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งช่องปากและกระเพาะอาหาร

การดูแลร่างกาย ควรเอาใจใส่ในการป้องกันและรักษาสุขภาพของตนเอง การรับประทานอาหารที่ได้ครบทุกหมวดหมู่และรับประทานอาหารสุขภาพที่มีประโยชน์ งดเหล้า บุหรี่ การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพ การควบคุมน้ำหนักอย่าให้อ้วน และการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งระยะเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในผู้หญิงจะพบมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 50 ของมะเร็งทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องตรวจเต้านมแมมโมแกรมได้ ควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อได้ทราบตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ ทำให้การดูแลรักษาได้ผลดี สามารถหายขาดเพื่อลดอัตราการตายจากมะเร็งได้

นอกจากนั้นต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ก้อน มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ปวดท้อง ระบบขับถ่ายผิดปกติ มีเลือดออก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เป็นต้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติ และในวัยนี้ควรได้รับการเจาะเลือดตรวจร่างกาย ตรวจภายใน เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ

ในด้านการป้องกัน The World Cancer Research Fund (WCRF) และ The American Institute of Cancer Research (AICR) แนะนำเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการคุมน้ำหนัก ในการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วย งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย (อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง/สัปดาห์) ดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าวันละ 15 กรัม (เทียบเท่าเบียร์ทั่วไปประมาณ 1½ แก้ว/วัน) รับประทานอาหารประเภทผัก เส้นใยพืชและผลไม้ ลดอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต

ที่ผ่านมาเรามีการจัดกิจกรรมมาโดยตลอด ปีที่แล้วเน้นเรื่องโรคอ้วน ปีนี้เราจัดเน้นการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการป้องกันการเกิดมะเร็งในวัยทอง เพื่อให้ผู้หญิงในวัยนี้ดูแลรักษาตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรค เนื่องจากโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกที่พบมากในผู้หญิงไทยนั้น สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ารู้เร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้”

รศ.พญ.มยุรี ยังบอกอีกว่า อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งมีแนวโน้มพบได้มากขึ้น เนื่องจากการมีชีวิตที่ยืนยาวของคนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ดังนั้น แผนนโยบายแห่งชาติด้านสาธารณสุขควรตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าถึงการตรวจค้น การตรวจคัดกรองมะเร็ง และการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงทุกชุมชนได้ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการตระหนักถึงความสำคัญของโรค ลดความเสี่ยงทั้งจากการดูแลตนเองในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การหมั่นตรวจและสังเกตตนเองเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น และพบแพทย์เพื่อสามารถตรวจวินิจฉัยได้แต่เนิ่น ๆ ทำให้การดูแลรักษาและการพยากรณ์โรคได้ดีขึ้น เพื่อให้คนวัยนี้สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

“การดูแลผู้ป่วยวัยทองจะต้องเข้าใจและให้เวลากับผู้ป่วย เพราะในวัยนี้จะพบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ โดยธรรมชาติแล้วเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีอารมณ์หงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว รวมถึงปัญหาโรคทางกาย เพราะฉะนั้นในฐานะแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยวัยนี้จะต้องให้เวลา เข้าใจ รับฟัง ดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ” รศ.พญ.มยุรี กล่าวทิ้งท้าย