#นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี
การผ่าตัดต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิล (tonsil) เป็นต่อมน้ำเหลืองภายในช่องคอ อยู่ด้านข้างของคอ ข้างลิ้นไก่ และโคนลิ้น มีส่วนที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค เพื่อต่อต้านกับเชื้อโรคและสารแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ต่อมอาจมีขนาดโต (tonsillar hypertrophy) (เซลล์ในต่อมถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน) หรือมีการอักเสบเรื้อรัง (chronic tonsillitis) (ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ เจ็บคอ กลืนลำบากเป็น ๆ หาย ๆ) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis), โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis), โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis) (เนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงคอ) หรือมีการอักเสบติดเชื้อของลำคอบ่อย ๆ (recurrent acute pharyngotonsillitis)
การผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsillectomy) จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ในเรื่องของการติดเชื้อเรื้อรัง (chronic tonsillitis) หรือเป็น ๆ หาย ๆ (recurrent acute tonsillitis) (ทำให้มีไข้ เจ็บคอ กลืนเจ็บ หรือกลืนลำบากเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ) จนรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (ต้องหยุดเรียนหรือขาดงานบ่อย) หรือมีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการนอนกรน (snoring) และ/หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) หรือในรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิล (carcinoma of tonsils)
การผ่าตัดต่อมทอนซิลก่อให้เกิดความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัด มีหลายปัจจัยที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ การรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อลดอัตราปวดภายหลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล พบ 7 รายงานวิจัยที่กล่าวถึงการใช้ยาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังผ่าตัด โดยได้รวบรวมผู้ป่วยจำนวน 593 คน เป็นผู้ป่วยเด็กจำนวน 397 คน และผู้ป่วยผู้ใหญ่จำนวน 196 คน ติดตามอาการปวดแผลผ่าตัดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 2 สัปดาห์ รายงานดังกล่าวพบว่ายาภายนอกที่ช่วยบรรเทาปวดได้ดี ได้แก่ Lidocaine spray มีประสิทธิภาพสูงสามารถลดความรุนแรงของอาการปวดหลังผ่าตัดได้ดี ยาภายนอกที่ลดอาการปวดรองลงมาคือ Benzydamine spray แต่อาจพบอาการแสบขณะใช้ แต่ปริมาณไม่มาก
กล่าวโดยสรุป การทำการผ่าตัดควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน และการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดภายนอก ยาที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ Lidocaine spray, Benzydamine spray