‘ตาบอด’ ในเด็กไทย ปัญหาอนาคตของชาติ

‘ตาบอด’ ในเด็กไทย ปัญหาอนาคตของชาติ
              สภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางรวมทั้งโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขเป็นข้อมูลที่จำเป็นและมีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพตา เพื่อนำไปกำหนดนโยบายและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการที่จะแก้ปัญหาตาบอดและสายตาพิการให้ตรงกับข้อเท็จจริงตามสภาวะสาธารณสุขในปัจจุบัน ตลอดจนการจัดบริการทางตาให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลและส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ที่ผ่านมา คณะทำงานโครงการส่งเสริมสุขภาพตา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำโครงการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยระบาดวิทยาของโรคตา โดยเฉพาะในเรื่องของตาบอด สายตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นสาเหตุสำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งจากการสำรวจสภาวะตาบอด ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2549-2550 พบว่า ประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59 และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 และโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยที่สำคัญ 5 โรค ได้แก่

1. โรคต้อกระจก เป็นสาเหตุของตาบอดสูงถึงร้อยละ 51

2. โรคต้อหิน เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 9.8

3. โรคของจอตา เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 9

4. โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 5.7

5. โรคของกระจกตา เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 5

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจสภาวะตาบอด สายตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2549-2550 พบว่าประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59 และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 และโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยที่สำคัญ 5 โรค ได้แก่ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคของจอตา โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา

กรมการแพทย์ ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์ความเป็นเลิศสาขาจักษุวิทยา ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาระดับชาติดังกล่าว ได้จัดทำแผนพัฒนาเขตบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาจักษุวิทยา ภายใต้นโยบาย “การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย” ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางของประชากร ตามกรอบแนวคิด VISION 2020 ขององค์การอนามัยโลก โดยมีแผนพัฒนาต่อเนื่องไปอีก 5 ปี

นพ.สรศักดิ์ โล่ห์จินดารัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า ข้อมูลจากรายงานวิจัยเรื่องการสำรวจสภาวะตาบอด ตาเลือนราง และโรคตา ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในเด็กอายุ 1-14 ปี พ.ศ. 2549-2550 ของประเทศไทยพบว่า อัตราความชุกของสภาวะตาบอดในเด็กไทยเท่ากับร้อยละ 0.11 เป็นอัตราที่สูงกว่าการประมาณการขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 0.07 องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2563 อัตราตาบอดของเด็กในทุกประเทศไม่ควรเกินร้อยละ 0.04 (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก VISION 2020 action plan 2006-2010) โดยพบว่า สาเหตุของสภาวะตาบอดในเด็กไทยเกิดจากโรคที่จอตาในทารกคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 66.66 และเกิดจากภาวะตามัวที่เกิดจากภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไขร้อยละ 33.33 ดังนั้น การที่จะลดอัตราความชุกของสภาวะตาบอดในเด็กไทยได้ต้องมุ่งเน้นการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ โรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด และสภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลสุขภาพเด็กไทยทั่วประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาตาบอดในเด็ก เพราะเมื่อเด็กตาบอดจะเกิดผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิต ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพในอนาคต ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อลดจำนวนประชากรเด็กที่ตาบอดในอนาคต

ด้วยเหตุนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “โครงการลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย: Better Sight for Child” ซึ่งเป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยอันดับ 4 ขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกและ International Agency for Prevention of Blindness ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวัน World Sight Day หรือวันสายตาโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาตาบอด สายตาพิการ และการฟื้นฟูสภาพสายตา

“กิจกรรมในวันนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของโครงการลดอัตราตาบอดในเด็กไทย โดยกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กที่มีปัญหาสภาวะสายตาที่ผิดปกติ ให้ได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ และได้รับการแก้ไขให้ได้รับแว่นตาอันแรกที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท เอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมโดยบริษัทฯ เองมีมูลนิธิเอสซีลอร์วิชั่นฟาวด์เดชั่น (Essilor Vision Foundation) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามาโดยตลอด”

พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กว่า การวินิจฉัยและรักษาภาวะสายตาผิดปกติไม่ยุ่งยาก แต่การเข้าถึงกลุ่มเด็กยังเป็นปัญหาเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะทำหน้าที่คัดกรองหาเด็กที่มีปัญหา และส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นที่ได้มาตรฐาน

“ในขณะที่การวัดสายตาในเด็กแตกต่างจากการวัดสายตาในผู้ใหญ่ จำเป็นต้องใช้การหยอดยาเพื่อลดการเพ่งของตาเด็กและการประกอบแว่นตาให้เด็กต้องการความถูกต้อง แม่นยำ เพราะเด็กจะไม่สามารถบอกได้ว่าแว่นตาดีหรือไม่ดี การใส่แว่นที่ไม่ถูกต้องตรงตามสายตาเด็ก หรือระยะต่าง ๆ ในการประกอบแว่นไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อสายตาเด็ก”

               จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมี การพัฒนาระบบบริการร่วมกันระหว่างโรงเรียนและสถานพยาบาล เพื่อให้มีการตรวจคัดกรองเด็กเบื้องต้นโดยครูที่ได้รับการฝึกอบรม และส่งต่อเด็กที่คัดกรองพบความผิดปกติไปยังสถานพยาบาล และพัฒนาให้มีการบริการตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นในหน่วยบริการ ซึ่งกลุ่มงานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีหลักสูตร “การวัดแว่นตาในเด็ก” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจักษุแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติทางจักษุ และนักทัศนมาตรที่สนใจเข้ารับการอบรม ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มบริการตรวจวัดสายตาในเด็กให้กระจายไปทั่วประเทศ

“กรณีตัวอย่างผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการส่งต่อเข้ารับการรักษาทางด้านสายตาได้อย่างทันกาลก่อนจะสายตาบอดในที่สุด ด.ช.กันต์อเนก บุตรคำ ถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเด็กตั้งแต่อายุ 4 ปี ผู้ปกครองพามาตรวจที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีครั้งแรกเมื่ออายุ 4 ปี 11 เดือน โดยให้ประวัติว่าเด็กชอบดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ ตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ไม่ได้พาไปตรวจ แต่เพราะครูสังเกตว่าเวลาเรียนน้องต้องเพ่งมองใกล้ ครูให้พ่อแม่พาไปตรวจ หมอทำการตรวจพบว่าสายตาสั้นมาก ข้างขวา 5.50 Diopter ในขณะที่ข้างซ้ายสั้นถึง 12 Diopter (หน่วยการวัดสายตา) ยิ่งไปกว่านั้นเด็กมีภาวะตาขี้เกียจแล้ว การมองเห็นได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะเป็น เพราะไม่ได้รับการรักษาประกอบแว่น ปัจจุบันน้องอายุ 7 ปี ระดับการมองเห็นได้มาถึง 90เปอร์เซ็นต์ หลังจากการรักษาด้วยแว่นตาและการกระตุ้นสายตาที่สถาบันฯ

นอกจากนี้ยังมีในกรณีของ ด.ญ.ชุติมา คงสถาน เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด มารับการรักษาสายตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดตั้งแต่อายุ 1 เดือน ได้รับการรักษาเรื่องจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนดจนหายดี เมื่ออายุ 1 ขวบ หลังจากนั้นมีการตรวจติดตามสายตาพบว่า ตอนอายุ 4 ขวบ มีภาวะสายตาสั้นมาก ข้างขวา 8.00 Diopter ข้างซ้าย 7.50 Diopter การมองเห็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นมีการรักษาด้วยการวัดสายตาประกอบแว่น และกระตุ้นสายตา ปัจจุบันน้องอายุ 7 ปี ระดับการมองเห็นถึง 90 เปอร์เซ็นต์”

            ในแง่การสนับสนุนของภาคเอกชน นายทฤษฎี ตุลยอนุกิจ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และภาคพื้นอินโดจีน บริษัท เอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กตาบอดเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่คุณหมอได้กล่าวไปข้างต้น บริษัท เอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ให้การสนับสนุนกิจกรรม Better Sight for Child ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม โดยทางบริษัทฯ เองก็มีมูลนิธิเอสซีลอร์วิชั่นฟาวด์เดชั่น (Essilor Vision Foundation) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามาโดยตลอด และในการสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ เราได้มอบเลนส์แว่นตาจำนวน 4,000 คู่ รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท เพื่อร่วมรณรงค์ลดอัตราการตาบอดในเด็กไทย

พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดทำเสื้อยืดคอลเลคชั่นพิเศษ ออกแบบโดยนักวาดภาพประกอบ ไผ่แก้ว อินสว่าง เพื่อจำหน่ายและนำรายได้ทั้งหมดมอบให้แก่โครงการฯ นำไปช่วยเหลือเด็ก ๆ หาซื้อได้ที่โรงพยาบาลเด็ก หรือร่วมสมทบทุนโดยการบริจาคผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้ ช่องทางที่ 1 โอนเข้าบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารออมสิน สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลขที่ 02-8888-99999-3 ช่องทางที่ 2 บริจาคผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขาทั่วประเทศ โดยการแจ้งรหัสบริจาค มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก หรือผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขา ทั้งนี้เราต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนไทยทุกคนมาช่วยกันป้องกันเด็กให้รอดจากการตาบอด”

การมองเห็นชัดเจนขึ้นย่อมทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะในเด็กควรได้รับการตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพราะร้อยละ 80 ของสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จนอายุ 12 ปีจะต้องอาศัยสายตา ทั้งนี้พบว่าจำนวน 7 ใน 10 ของเด็กวัยเรียนมีปัญหาการอ่าน มีความบกพร่องทางสายตา ซึ่งถ้าหากเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อการศึกษาและโอกาสในการทำงานในอนาคต อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และคนในสังคมด้วยเช่นกัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะมาร่วมกันรณรงค์ร่วมลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย ด้วยการคัดกรองสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็ก ซึ่งครู ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองสามารถทำได้เองเบื้องต้นได้อย่างง่าย ก่อนที่อนาคตของเด็กน้อยที่เป็นกำลังของชาติจะดับมืดลง

ภาพประกอบ  
1. พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ 
2. นายทฤษฎี ตุลยอนุกิจ