บรรยายใต้ภาพ นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
ร.พ.มนารมย์ ดูแลรอบด้านทางจิตเวช มุ่งพัฒนาและสร้างประโยชน์สู่สังคม
“สุขภาพของคนเราประกอบด้วยสองส่วนคือ กายกับใจ การที่จะมีความสุขที่แท้จริงได้นั้นต้องสุขทั้งกายและใจ แต่ที่ผ่านมาความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นตอบสนองเฉพาะทางด้านกายมากกว่า คือเครื่องผ่อนแรง อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันแม้คนจะสุขทางกายมากขึ้น แต่ความสุขทางใจกลับน้อยลง ระดับความเครียดของคนในสังคมมีมากขึ้น ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ความแข็งแรงทางด้านจิตใจน้อยลงกว่าแต่ก่อน เนื่องจากสถาบันหลักในสังคมอ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ศาสนา ทำให้คนขาดที่พึ่งมากขึ้น เมื่อแรงกดดันมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านจิตใจข้างในอ่อนแอลง โอกาสที่จะเจ็บป่วยทางด้านจิตใจก็มีมากขึ้น”
วารสารวงการแพทย์ได้มีโอกาสเยี่ยมเยียน โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง อันแสนร่มรื่นบนเนื้อที่ 7 ไร่ ใกล้สี่แยกบางนา ที่เปิดให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา ฟื้นฟูสุขภาพจิต และปัญหาจิตเวช ให้แก่ผู้ป่วยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขากว่า 40 ท่าน ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักศิลปะบำบัด และนักบำบัด อีกหลายสาขา
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลว่า ด้วยความต้องการบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคมไทย ในขณะที่ความสามารถในการให้บริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานต่อความต้องการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ คณะจิตแพทย์อาวุโสหลายท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ก่อตั้งโรงพยาบาลมนารมย์ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้รับบริการ
โดยเปิดให้การบริการดูแลรักษาเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวชที่เพียบพร้อมไปด้วยบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม แบบโปรแกรมกลางวัน อาคารสถานที่ทางโรงพยาบาลมนารมย์ ได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความเป็นส่วนตัว นอกจากห้องพักผู้ป่วยแล้วยังมีห้องกลุ่มกิจกรรมบำบัด ห้องสันทนาการ ห้องกายภาพบำบัด สวนพักผ่อน สนามกลางแจ้ง ห้องสำหรับฝึกผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของโรงพยาบาลคือ การดูแลรอบด้าน ทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ บุคลิกภาพ และปัจจัยแวดล้อม โดยการรักษาจะมีทั้งการใช้ยาเพื่อรักษาทางด้านชีวภาพของสมอง และการใช้จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ศิลปะบำบัด การพูดคุยสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง ปรับมุมมอง วิธีคิด ทำให้สามารถแก้ปัญหา หรือรับมือกับปัญหาในชีวิตได้ดีขึ้น สามารถปรับตัวกับสังคมได้ดีขึ้น
ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่เปิดให้บริการมา โรงพยาบาลได้รับการยอมรับจากประชาชนและมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โดยเห็นได้จากจำนวนผู้รับบริการในแต่ละวันที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลยังคงเป้าหมายให้บริการแก่ผู้ป่วยทางด้านจิตเวชให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้านและทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กเล็ก เด็กโต เด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ในแต่ละช่วงวัยก็จะมีปัญหาที่พบบ่อย อาทิเช่น ในวัยเด็กเล็ก ได้แก่ ปัญหาพัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น การเรียนรู้บกพร่อง ในเด็กโตและเด็กวัยรุ่น ได้แก่ ปัญหาการปรับตัวกับเพื่อนและสังคม ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาความรับผิดชอบ ปัญหาการใช้สารเสพติด ในวัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน ได้แก่ ปัญหาวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาติดสุรา โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ ในวัยผู้สูงอายุ ได้แก่ ปัญหาโรคซึมเศร้า และสมองเสื่อม เป็นต้น
การบริหารงานโรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาลมนารมย์ซึ่งพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยและสังคม กับผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นและพนักงาน
“การบริหารงานโรงพยาบาลต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม คือผู้รับบริการ หรือผู้ป่วย จะต้องได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ ได้รับการดูแลรักษาให้มีอาการดีขึ้น เร็วขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าผู้ป่วยทาง จิตเวชหนึ่งคนไม่ได้มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงครอบครัวด้วย หากช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้นก็เหมือนกับช่วยคนในครอบครัวนั้นให้พ้นจากความทุกข์ได้เร็วขึ้นด้วย ผู้เกี่ยวข้องส่วนที่สองคือ พนักงานโรงพยาบาล ผู้ที่จะทำงานทางด้านนี้จะต้องมีความชัดเจนต่างจากผู้ที่ทำงานด้านอื่นคือ เรื่องความอดทน ความมั่นคงทางอารมณ์ และจิตใจ ผมพูดกับพนักงานอยู่เสมอว่าเราทำงานด้านนี้เหมือนได้ทำบุญทุกวัน คือช่วยเหลือคนให้พ้นจากความทุกข์ใจ และส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ถือหุ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทำธุรกิจ ผู้ถือหุ้นก็คาดหวังเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย แม้โรงพยาบาลมนารมย์จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน เราก็ไม่ได้มองเป็นการค้าหรือมุ่งหวังกำไรเป็นหลัก แต่มุ่งหวังที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยและสังคมมากกว่า”
การทำประโยชน์ให้แก่สังคมคือ เป้าหมายลำดับต้น ๆ ของการดำเนินงานของโรงพยาบาลมนารมย์ จึงไม่แปลกเลยที่ทางโรงพยาบาลพยายามทำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง “ทางโรงพยาบาลมองว่าการให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาทางด้านจิตเวชรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นเกิดจากทัศนคติของประชาชนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจโรคทางด้านจิตเวช ทำให้การปัองกันหรือการขอรับความช่วยเหลือช้ากว่าที่ควรจะเป็น จากปัญหาที่แก้ไขง่ายก็เป็นแก้ไขได้ยาก ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจึงมีการจัดบรรยายให้ความรู้ทางด้านจิตเวช ทั้งด้านการป้องกัน การรักษา และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยแก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเกือบทุกเดือน มีการบรรยายความรู้ให้แก่องค์กรต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจเด็กในวัยต่าง ๆ และสำหรับในปีนี้ซึ่งครบรอบ 7 ปีของทางโรงพยาบาล ได้ร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก แนวทางการช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ แก่ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ นักจิตวิทยาของศาล เป็นต้น”
ในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริหารและแพทย์ นพ.ไกรสิทธิ์ มองว่าคือ ‘โอกาส’ ที่จะช่วยเหลือส่วนรวมได้มากขึ้น โดยได้กล่าวฝากทิ้งท้ายถึงแพทย์ท่านอื่น ๆ ว่า “อาชีพแพทย์ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีโอกาสที่ดีที่จะได้ทำกุศลโดยการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ การที่เราได้รับเกียรตินี้จากผู้คนในสังคม แพทย์จะต้องรักษาเกียรตินั้นให้คงอยู่ด้วย โดยการดำรงตนให้สมกับการที่จะได้รับการเคารพนับถือจากผู้คน โดยการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ และมุ่งที่ประโยชน์ของผู้ป่วย ญาติ และส่วนรวมเป็นที่ตั้งอันดับแรก ถ้าส่วนรวมดี ผมเชื่อว่าส่วนตัวก็จะดีตามไปด้วย แพทย์ควรต้องดูแลผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยให้เหมือนกับคนในครอบครัว เพราะจริง ๆ แล้ว ทุกวันนี้เราก็อยู่ในสังคมที่เหมือนกับเป็นครอบครัวใหญ่ หากทุกคนในครอบครัวนี้เอาใจใส่กัน ห่วงใยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สังคมก็จะน่าอยู่ และจะสามารถผ่านพ้นทุกปัญหาไปได้”