ยาช่วยเลิกบุหรี่และความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต

ยาช่วยเลิกบุหรี่และความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต

BMJ 2013;347:f5704.

บทความเรื่อง Smoking Cessation Treatment and Risk of Depression, Suicide, and Self Harm in the Clinical Practice Research Datalink: Prospective Cohort Study รายงานผลจากการศึกษาจากฐานข้อมูล Clinical Practice Research Datalink เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง และซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ได้รับ varenicline หรือ bupropion เทียบกับผู้ที่ได้นิโคตินทดแทน

กลุ่มประชากรในการศึกษาเป็นชายและหญิงอายุ 18 ปีหรือมากกว่าจำนวน 119,546 ราย ซึ่งได้ใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2006 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2011 โดย 81,545 ราย ได้รับนิโคตินทดแทน (68.2% จากผู้ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่), 6,741 ราย ได้รับ bupropion (5.6%) และ 31,260 ราย ได้รับ varenicline (26.2%)

            ผลลัพธ์ ได้แก่ การรักษาโรคซึมเศร้า และการทำร้ายตัวเองทั้งถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิตภายใน 3 เดือนนับจากได้รับยาช่วยเลิกบุหรี่ โดยประเมินตามความเชื่อมโยงกับข้อมูลการตายของ Office for National Statistics (สำหรับการฆ่าตัวตาย) และ Hospital Episode Statistics (สำหรับการพักรักษายังโรงพยาบาลเนื่องจากการทำร้ายตัวเองที่ไม่ถึงแก่ชีวิต) นักวิจัยประมาณ hazard ratios หรือ risk differences ด้วย Cox multivariable regression models จับคู่ค่าคะแนนความโน้มเอียงและวิเคราะห์ตัวแปรเครื่องมือโดยให้ความโน้มเอียงในการจ่ายยาของแพทย์เป็นเครื่องมือ และได้วิเคราะห์ความไวสำหรับผลลัพธ์ที่ 6 เดือน และ 9 เดือน

            นักวิจัยพบประวัติทำร้ายตัวเองทั้งถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิตรวม 92 ราย (326.5 events per 100,000 person years) และประวัติการรักษาโรคซึมเศร้าจากบริการปฐมภูมิ 1,094 ราย (6,963.3 per 100,000 person years)    ข้อมูลจากการวิเคราะห์ Cox regression analyses ไม่พบหลักฐานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ varenicline มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการทำร้ายตัวเองทั้งถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต (HR 0.88, 95% CI 0.52-1.49) หรือได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า (0.75, 0.65-0.87) เทียบกับผู้ที่ได้รับนิโคตินทดแทน จากการศึกษาไม่พบหลักฐานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ bupropion มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการทำร้ายตัวเองทั้งถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต (0.83, 0.30-2.31) หรือได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า (0.63, 0.46-0.87) เทียบกับผู้ที่ได้รับนิโคตินทดแทน โดยมีผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันกับการจับคู่ค่าคะแนนความโน้มเอียงและการวิเคราะห์ตัวแปรเครื่องมือ

            จากการศึกษานี้ไม่พบหลักฐานว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยที่ได้รับ varenicline หรือ bupropion เทียบกับผู้ที่ได้รับนิโคตินทดแทน และเป็นข้อมูลช่วยสนับสนุนความมั่นใจทั้งต่อผู้ใช้และแพทย์ว่ายาช่วยเลิกบุหรี่มีความปลอดภัย