ยารักษาโรคจิตและความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น

ยารักษาโรคจิตและความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น

JAMA Psychiatry. 2013;70(10):1067-1075.

บทความเรื่อง Antipsychotics and the Risk of Type 2 Diabetes Mellitus in Children and Youth รายงานว่า อัตราการจ่ายยารักษาโรคจิตแก่เด็กและคนวัยหนุ่มสาวที่สูงขึ้นเป็นผลให้เกิดความวิตกว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยจึงได้เปรียบเทียบความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและคนวัยหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 6-24 ปีที่ได้รับยารักษาโรคจิตและกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาทางจิตเวช รวมผู้ได้รับยารักษาโรคจิต 28,858 ราย และกลุ่มควบคุม 14,429 ราย โดยไม่รวมผู้ป่วยที่มีประวัติโรคเบาหวาน จิตเภท หรือภาวะอื่นซึ่งมียาต้านอาการจิตเภทเป็นการรักษามาตรฐาน มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การตรวจพบโรคเบาหวานระหว่างการติดตาม โดยระบุจากการวินิจฉัยและการจ่ายยาโรคเบาหวาน  

ผู้ที่ได้ยารักษาโรคจิตมีความเสี่ยงสูงขึ้น 3 เท่าต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (HR = 3.03 [95% CI = 1.73-5.32]) โดยพบได้ในปีแรกของการติดตาม (HR = 2.49 [95% CI = 1.27-4.88]) และความเสี่ยงสูงขึ้นตามขนาดยาสะสมระหว่างการติดตามโดยมี HRs เท่ากับ 2.13 (95% CI = 1.06-4.27), 3.42 (95% CI = 1.88-6.24) และ 5.43 (95% CI = 2.34-12.61) สำหรับขนาดยาสะสม (gram equivalents ของ chlorpromazine) ที่มากกว่า 5 g, 5-99 g และ 100 g หรือมากกว่า (p < 0.04) โดยความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังคงสูงขึ้นจนถึง 1 ปีหลังหยุดยารักษาโรคจิต (HR = 2.57 [95% CI = 1.34-4.91]) เมื่อจำกัดเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 6-17 ปี พบว่าผู้ที่ได้ยารักษาโรคจิตมีความเสี่ยงสูงขึ้น 3 เท่าต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (HR = 3.14 [95% CI = 1.50-6.56]) และความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามขนาดยาสะสม (p < 0.03) โดยความเสี่ยงสูงขึ้นจากการใช้ยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ (HR = 2.89 [95% CI = 1.64-5.10]) หรือ risperidone (HR = 2.20 [95% CI = 1.14-4.26])

ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า เด็กและคนหนุ่มสาวที่ได้รับยารักษาโรคจิตมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความเสี่ยงโรคเบาหวานสูงขึ้นตามขนาดยาสะสม