โรคนิ่วในถุงน้ำดี

โรคนิ่วในถุงน้ำดี          

            ตับเป็นอวัยวะที่สร้างน้ำดี ซึ่งมีไว้ช่วยย่อยไขมัน โดยจะมีน้ำย่อยจากตับอ่อนช่วย น้ำดีที่ผลิตจากตับจะไหล ผ่านท่อของตับลงสู่ถุงน้ำดี ถุงน้ำดีจะอยู่ใต้ตับ ทางด้านชายโครงขวา ถุงน้ำดีจะเก็บน้ำดีไว้และทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น 30 เท่า น้ำดีจะมีกรดน้ำดี (bile acids) และไขมันคอเลสเตอรอล ฯลฯ ซึ่งอยู่ด้วยกันอย่างมีความสมดุล เมื่อคนรับประทานอาหาร ถุงน้ำดีจะบีบตัวและหลั่งน้ำดีออกมาผ่านท่อ cystic เข้าสู่ท่อรวมน้ำดี ลงสู่ลำไส้เล็กส่วนบน (ดูโอดีนั่ม – duodenum) เพื่อมีส่วนร่วมในการย่อยอาหาร

            ทำไมถึงเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้? ร่างกายสามารถมีนิ่วได้ใน 2 ระบบ ระบบที่หนึ่งคือ ระบบทางเดินน้ำดี เช่น ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ฯลฯ และระบบที่สองคือ ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ น้ำดีจะมีกรดน้ำดีซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ไขมันคอเลสเตอรอลละลายอยู่ได้ในน้ำดี พอที่จะสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าน้ำดีมีกรดน้ำดีน้อยจะไม่สามารถทำให้ไขมันละลายอยู่ในน้ำดีได้ หรือมีไขมันมากกว่ามีกรดน้ำดี ไขมันก็จะตกตะกอน เริ่มเป็นนิ่ว ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนเอาน้ำตาลใส่ลงไปในน้ำ 1 แก้ว ใส่ลงไป 1-3 ช้อน น้ำตาลจะละลายในน้ำได้หมด แต่ถ้าใส่น้ำตาล (เปรียบเป็นไขมัน) ถึง 10 ช้อน น้ำตาลก็จะไม่ละลาย และยังอยู่ในสภาพของน้ำตาล โดยสรุปนิ่วจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความไม่สมดุลระหว่างกรดน้ำดีและคอเลสเตอรอล ถ้ามีกรดน้ำดีน้อย หรือมีคอเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะมีการเกิดนิ่วขึ้นได้

            ใครหรืออะไรที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี?

            ปัจจัยเสี่ยงคือ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ผู้ชายก็เป็นได้แต่มักเป็นในผู้สูงอายุ (เมื่อเทียบกับอายุของผู้หญิงที่เป็น) โรคอ้วน สูงอายุ ผู้หญิงที่มีลูกหลายคน (เพราะเวลามีลูกในแต่ละครั้ง ไขมันในน้ำดีจะเพิ่มขึ้น ถุงน้ำดีจะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว จึงทำให้เกิดการ “ตกตะกอน” ได้ง่าย) โรคเบาหวาน (อ้วน ไขมันสูง) กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ เช่น อินเดียนแดงในอเมริกา ชาวสแกนดิเนียเวียน หรือการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว (ไม่ควรลดเกิน ½ - 1 กก./สัปดาห์) เพราะจะไม่ค่อยมีการสร้างกรดน้ำดี ยาบางชนิด รวมทั้งโรคเลือดบางชนิดที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ หรือการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (ถ้าให้นานกว่า 3 เดือน 45% จะมีนิ่วเกิดขึ้น)

            ประเด็นที่ประชาชนมาพบแพทย์บ่อย ๆ ก็คือ ไปตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งการทำอัลตราซาวนด์ที่ท้องด้วย และพบนิ่วจะทำอย่างไร? จากข้อมูลทางการแพทย์จากการติดตามผู้ป่วย 123 คนที่มีนิ่วแต่ไม่มีอาการ ด้วยการติดตามไปถึง 11-24 ปี พบว่าถ้าผู้ที่มีนิ่วและทิ้งไว้ เมื่อติดตามดูจะมีอาการปวดท้องเฉพาะของระบบทางเดินน้ำดีที่แพทย์เรียกว่า biliary colic เพียง 2% ต่อปีใน 5 ปีแรก หรือรวม 15% ใน 10 ปีแรก และ 18% ทั้ง 20 ปี และมีเพียง 2% ของผู้ที่มีนิ่วทั้งหมดเท่านั้นที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการอักเสบของถุงน้ำดี หรือนิ่วอุดตันท่อน้ำดีรวม หรือนิ่วทำให้ตับอ่อนอักเสบ แต่ทั้งหมดนี้ก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจะมีอาการ biliary colic อย่างเดียวเกิดขึ้นก่อน ฉะนั้นโดยสรุป อยู่ดี ๆ ผู้ที่มีนิ่วจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนทันที แต่จะมีอาการเตือนในรูปแบบของ biliary colic ก่อน

            ฉะนั้นคำตอบของคำถามว่ามีนิ่วโดยไม่มีอาการจริง ๆ จะทำอย่างไร? ข้อมูลในขณะนี้ ตามข้างบนนี้ตอบว่าทิ้งไว้ก็ปลอดภัยพอสมควร แต่ถ้ามีอาการ biliary colic เมื่อไหร่ ต้องไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือเอาถุงน้ำดีออกได้เลย โดยมากตอนแรก ๆ ผู้ที่มีนิ่วอาจมี biliary colic อย่างเดียวแล้วหายไปโดยยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าเคยมี biliary colic แล้วต่อไปอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีนิ่วและไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ โดยเฉพาะ biliary colic ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ามี biliary colic เมื่อใดจะต้องเอานิ่วออกเมื่อนั้น