ผลลัพธ์สเตตินต่ออัตราตายในผู้ป่วยปอดอักเสบจากเครื่องช่วยหายใจ

ผลลัพธ์สเตตินต่ออัตราตายในผู้ป่วยปอดอักเสบจากเครื่องช่วยหายใจ

JAMA. 2013;310(16):1692-1700.

บทความเรื่อง Effect of Statin Therapy on Mortality in Patients with Ventilator-Associated Pneumonia: A Randomized Clinical Trial อ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า สเตตินอาจสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้านโรคติดเชื้อ ขณะเดียวกันภาวะปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ventilator-associated pneumonia (VAP) เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในไอซียูและสัมพันธ์กับอัตราตายที่สูง 

นักวิจัยศึกษาว่า การรักษาด้วยสเตตินสามารถลดอัตราตาย 28 วันในผู้ป่วย VAP ได้หรือไม่ โดยศึกษาจากหน่วยไอซียู 26 แห่งในฝรั่งเศสระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 ถึงมีนาคม ค.ศ. 2013 นักวิจัยวางแผนศึกษาจากผู้ป่วย 1,002 รายที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานกว่า 2 วัน และสงสัยว่าเป็น VAP ประเมินจาก Clinical Pulmonary Infection Score ที่เท่ากับ 5 คะแนนหรือมากกว่า เพื่อดู absolute reduction ของอัตราตาย 28 วันที่ 8% และยุติเมื่อพบ absolute increase ของอัตราตาย 28 วันที่อย่างน้อย 2.7% จากการเปรียบเทียบระหว่าง simvastatin และยาหลอกในผู้ป่วย 251 รายแรก

ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับ simvastatin (60 mg) หรือยาหลอก โดยเริ่มให้ในวันเดียวกับยาปฏิชีวนะและให้ต่อเนื่องจนกว่าออกจากไอซียู หรือตาย หรือ 28 วัน แล้วแต่ข้อใดเกิดขึ้นก่อน โดยให้อัตราตาย 28 วันเป็นมาตรวัดผลลัพธ์หลัก นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ประเมินอัตราตาย 14 วัน อัตราตายในไอซียู และอัตราตายในโรงพยาบาล รวมถึงระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจและคะแนน Sequential Organ Failure Assessment (SOFA) ของวันที่ 3, 7 และ 14

การศึกษายุติลงในการวิเคราะห์ก่อนการวิจัยสิ้นสุดครั้งแรกจากผู้ป่วย 300 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดยกเว้น 7% ในกลุ่ม simvastatin และ 11% ในกลุ่มยาหลอกยังไม่เคยได้รับสเตตินเมื่อรับเข้าไอซียู อัตราตาย 28 วันไม่ได้ต่ำลงในกลุ่ม simvastatin (21.2% [95% CI, 15.4-28.6%) เทียบกับกลุ่มยาหลอก (15.2% [95% CI, 10.2-22.1%]; p = 0.10; hazard ratio, 1.45 [95% CI, 0.83-2.51]); ความแตกต่างระหว่างกลุ่มเท่ากับ 6.0% (95% CI, -3.0 ถึง 14.9%) ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับสเตตินมาก่อนมีอัตราตาย 28 วัน เท่ากับ  21.5% (95% CI, 15.4-29.1%) จาก simvastatin และ 13.8% (95% CI, 8.8-21.0%) จากยาหลอก placebo (p = 0.054) (ความแตกต่างระหว่างกลุ่มเท่ากับ 7.7% [95% CI, -1.8 ถึง 16.8%) โดยไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านอัตราตาย 14 วัน อัตราตายในไอซียู และอัตราตายในโรงพยาบาล รวมถึงระยะการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการเปลี่ยนแปลงด้านคะแนน SOFA 

การรักษาด้วย simvastatin ในผู้ใหญ่ที่สงสัยว่าเป็น VAP ไม่มีประโยชน์ด้านการรอดชีพ 28 วัน เทียบกับยาหลอก ซึ่งข้อมูลนี้ไม่สนับสนุนการใช้สเตตินโดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ด้าน VAP