การช่วยหายใจแบบไม่ใส่ท่อและใส่ท่อในทารกแรกเกิด

การช่วยหายใจแบบไม่ใส่ท่อและใส่ท่อในทารกแรกเกิด

BMJ 2013;347:f5980.

บทความเรื่อง Non-invasive Versus Invasive Respiratory Support in Preterm Infants at Birth: Systematic Review and Meta-Analysis รายงานผลการศึกษาเพื่อประเมินบทบาทของการเป่าความดันลมเปิดขยายทางเดินหายใจ (continuous positive airway pressure: CPAP) แบบไม่ใส่ท่อขณะแรกเกิดเพื่อป้องกันการตายและโรคปอดเรื้อรังในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมาก โดยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล PubMed, Embase, Cochrane Central Register of Controlled Trials และบทคัดย่องานวิจัยของ Pediatric Academic Society นับตั้งแต่ปีเริ่มก่อตั้งจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013

งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็นการศึกษาเปรียบเทียบผลของ CPAP แบบไม่ไม่ท่อและใส่ท่อในทารกคลอดก่อนกำหนดซึ่งมีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ และได้รายงานผลลัพธ์ด้านการตายหรือโรคปอดเรื้อรัง หรือทั้งสองอย่าง (ประเมินจากความจำเป็นในการให้ออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่ออายุครรภ์ที่ปรับแล้วเท่ากับ 36 สัปดาห์) ระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล

มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษารวม 4 ชิ้น (2,782 ราย) โดยมีทารกทำ CPAP แบบไม่ใส่ท่อ 1,296 ราย และแบบใส่ท่อ 1,486 ราย งานวิจัยทั้งหมดรายงานผลลัพธ์ด้านโรคปอดเรื้อรังขณะอายุครรภ์ที่ปรับแล้วเท่ากับ 36 สัปดาห์ โดยมีผลดีเอียงไปทางกลุ่ม CPAP แบบไม่ใส่ท่อ (relative risk 0.91, 95% confidence interval 0.82-1.01, risk difference -0.03, 95% confidence interval -0.07 ถึง 0.01) และไม่พบความแตกต่างด้านการตาย (relative risk 0.88, 0.68-1.14, risk difference -0.02, -0.04 ถึง 0.01, respectively) และจากการวิเคราะห์โดยรวมพบประโยชน์ที่มีนัยสำคัญของผลรวมด้านการตาย หรือโรคปอดอักเสบเรื้อรัง หรือทั้งสองอย่างขณะอายุครรภ์ที่ปรับแล้วเท่ากับ 36 สัปดาห์สำหรับทารกที่ทำ CPAP แบบไม่ใส่ท่อ (relative risk 0.91, 0.84-0.99, risk difference -0.04, -0.07 ถึง 0.00, number needed to treat of 25)

ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่าจะมีทารกรอดชีวิตถึง 36 สัปดาห์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายโดยไม่มีโรคปอดอักเสบเรื้อรังสำหรับทารกทุก 25 รายที่รักษาด้วย CPAP แบบไม่ใส่ท่อตั้งแต่ในห้องคลอดเทียบกับการใส่ท่อ