Linagliptin สำหรับผู้สูงอายุป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และควบคุมน้ำตาลไม่ได้

Linagliptin สำหรับผู้สูงอายุป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และควบคุมน้ำตาลไม่ได้

Lancet. 2013 October 26;382(9902):1413-1423.

            บทความเรื่อง Linagliptin for Patients Aged 70 Years or Older with Type 2 Diabetes Inadequately Controlled with Common Antidiabetes Treatments: A Randomised, Double-Blind, Placebo-Controlled Trial รายงานว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ (≥ 65 ปี) แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักถูกกันออกจากงานวิจัยที่ศึกษาผลของยาลดระดับน้ำตาล 

นักวิจัยจึงศึกษาประสิทธิภาพของ linagliptin ซึ่งเป็น dipeptidyl peptidase-4 inhibitor ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ผู้ป่วยซึ่งมีอายุ 70 ปีหรือมากกว่า และมีระดับ glycated haemoglobin A1c (HbA1c) เท่ากับ 7.0% หรือมากกว่าได้รับยา metformin, sulfonylureas หรือ basal insulin หรือได้รับยาดังกล่าวร่วมกับได้รับการรักษาด้วย linagliptin 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือยาหลอกเป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ และให้การเปลี่ยนแปลงของค่า HbA1c จากเส้นฐานถึง 24 สัปดาห์เป็น primary endpoint

            ผู้ป่วยสูงอายุที่ศึกษามีจำนวน 241 ราย (162 รายในกลุ่ม linagliptin และ 79 รายในกลุ่มยาหลอก) อายุเฉลี่ยเท่ากับ 74.9 ปี (SD 4.3) และค่าเฉลี่ย HbA1c เท่ากับ 7.8% (SD 0.8) ที่ 24 สัปดาห์พบว่า ความแตกต่างค่าเฉลี่ยปรับตามยาหลอกของ HbA1c ในกลุ่ม linagliptin เท่ากับ -0.64% (95% CI -0.81 ถึง -0.48, p < 0.0001) ความปลอดภัยและความทนต่อยาโดยแทบไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม linagliptin และกลุ่มยาหลอก โดยพบผู้ป่วย 75.9%  เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทั้งสองกลุ่ม (linagliptin n = 123, placebo n = 60) จากการศึกษาไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตและพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงใน 8.6% (14 ราย) ของผู้ป่วยในกลุ่ม linagliptin และ 6.3% (5 ราย) ของผู้ป่วยในกลุ่มยาหลอกซึ่งไม่ได้เป็นผลจากยาที่วิจัย โดยที่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดในทั้งสองกลุ่ม และไม่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม (24.1% [39] ในกลุ่ม linagliptin และ 16.5% [13] ในกลุ่มยาหลอก; odds ratio 1.58, 95% CI 0.78-3.78, p = 0.2083)

            การรักษาด้วย linagliptin ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลและมีความปลอดภัยระดับเดียวกับยาหลอก ซึ่งข้อมูลจากการศึกษานี้อาจช่วยในการพิจารณาปรับการควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสมโดยมีความเสี่ยงน้อยสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ