วัคซีนไข้หวัดใหญ่และผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่และผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง

JAMA. 2013;310(16):1711-1720.

บทความเรื่อง Association Between Influenza Vaccination and Cardiovascular Outcomes in High-Risk Patients: A Meta-analysis รายงานผลจากงานวิจัยเพื่อศึกษาว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับการป้องกัน cardiovascular events หรือไม่ ตามที่มีข้อมูลรายงานว่าการติดเชื้อคล้ายไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับการเกิด atherothrombotic event ทั้งที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต  

นักวิจัยศึกษาแบบ systematic review และ meta-analysis จากฐานข้อมูล MEDLINE (ค.ศ. 1946 - สิงหาคม ค.ศ. 2013), EMBASE (ค.ศ. 1947 - สิงหาคม ค.ศ. 2013) และ Cochrane Library Central Register of Controlled Trials (ก่อตั้ง - สิงหาคม ค.ศ. 2013) โดยรวบรวมงานวิจัยที่เปรียบเทียบวัคซีนไข้หวัดใหญ่และยาหลอกหรือควบคุมในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และได้รายงานผลลัพธ์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในแง่ประสิทธิภาพหรือความปลอดภัย  

นักวิจัยคำนวณ random-effects Mantel-Haenszel risk ratios (RRs) และ 95% CIs สำหรับประเมินเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวม อัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การตายทุกสาเหตุ และเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่ละกรณี การวิเคราะห์จำแนกตามกลุ่มย่อยของผู้ป่วยที่มีหรือไม่มีประวัติ acute coronary syndrome (ACS) ภายใน 1 ปีจากการสุ่ม

งานวิจัยที่นำมาศึกษาประกอบด้วยงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ 5 ชิ้น และยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ 1 ชิ้น รวมผู้ป่วย 6,735 ราย (อายุเฉลี่ย 67ปี; 51.3% เป็นผู้หญิง; 36.2% มีประวัติโรคหัวใจ และระยะเฉลี่ยของการติดตามเท่ากับ 7.9 เดือน) โดยพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวม (2.9% vs 4.7%; RR, 0.64 [95% CI, 0.48-0.86], p = 0.003) ในงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ อันตรกิริยาระหว่างการรักษาพบในผู้ป่วยที่มี (RR, 0.45 [95% CI, 0.32-0.63]) และไม่มี (RR, 0.94 [95% CI, 0.55-1.61]) ประวัติ ACS (p for interaction = 0.02) ซึ่งผลลัพธ์ยังคงใกล้เคียงกันหลังรวมงานวิจัยที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์

ผลลัพธ์ของ meta-analysis จากงานวิจัยเปรียบเทียบชี้ว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง โดยเห็นผลชัดเจนที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มความเสี่ยงสูงสุดซึ่งมีโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นมากขึ้น ซึ่งนักวิจัยยังเสนอแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์นี้ และประเมิน cardiovascular endpoint แต่ละด้าน