วิถีชีวิตสุขภาพดีในผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดจำแนกตามเศรษฐกิจประเทศ

วิถีชีวิตสุขภาพดีในผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดจำแนกตามเศรษฐกิจประเทศ JAMA. 2013;309(15):1613-1621.

บทความวิจัยเรื่อง Prevalence of a Healthy Lifestyle among Individuals with Cardiovascular Disease in High-, Middle- and Low-Income Countries: The Prospective Urban Rural Epidemiology (PURE) Study รายงานว่า ปัจจุบันยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินพฤติกรรมวิถีชีวิตสุขภาพดีในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (CHD) หรือสโตรคในแต่ละประเทศทั่วโลก นักวิจัยจึงดำเนินการศึกษา Prospective Urban Rural Epidemiology (PURE) เพื่อติดตามความชุกของการหลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ และออกกำลังกายเป็นประจำในผู้ที่เป็น CHD หรือสโตรค

            การศึกษาเป็นแบบ prospective cohort study จากการสำรวจทางระบาดวิทยาจากผู้ใหญ่อายุ 35-70 ปีจำนวน 153,996 รายจากชุมชนเมืองและชนบท 628 แห่งจากประเทศพัฒนาระดับสูง (high-income countries - HIC) 3 ประเทศ, ประเทศพัฒนาระดับปานกลางบน (upper-middle-income countries - UMIC) 7 ประเทศ, ประเทศพัฒนาระดับปานกลางล่าง (lower-middle-income countries - LMIC) 3 ประเทศ และประเทศพัฒนาในระดับต่ำ (low-income countries - LIC) 4 ประเทศ โดยรวบรวมระหว่างมกราคม ค.ศ. 2003 และธันวาคม ค.ศ. 2009  

            มาตรวัดผลลัพธ์ประกอบด้วย สถานการณ์สูบบุหรี่ (สูบอยู่, เคยสูบ, ไม่เคยสูบ), ระดับการออกกำลังกาย (ต่ำ, < 600 metabolic equivalent task [MET]-นาที/สัปดาห์; ปานกลาง, 600-3,000 MET-นาที/สัปดาห์; สูง, > 3,000 MET-นาที/สัปดาห์) และอาหาร (จำแนกตาม Food Frequency Questionnaire และระบุด้วย Alternative Healthy Eating Index)

            จากผู้ป่วย 7,519 รายที่รายงานว่าเป็น CHD (past event: median, 5.0 [interquartile range {IQR}, 2.0-10.0] ปีก่อน) หรือสโตรค (past event: median, 4.0 [IQR, 2.0-8.0] ปีก่อน) พบว่า 18.5% (95% CI, 17.6-19.4%) ยังคงสูบบุหรี่ โดยมีเพียง 35.1% (95% CI, 29.6-41.0%) ที่ออกกำลังกายจากการทำงานหรือออกกำลังกายยามว่าง  และ 39.0% (95% CI, 30.0-48.7%) รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ขณะที่ 14.3% (95% CI, 11.7-17.3%) ไม่มีพฤติกรรมวิถีชีวิตสุขภาพดีทั้ง 3 พฤติกรรม และ 4.3% (95% CI, 3.1-5.8%) มีพฤติกรรมวิถีชีวิตสุขภาพดีทั้ง 3 พฤติกรรม โดยรวมพบว่า 52.5% (95% CI, 50.7-54.3%) เลิกสูบบุหรี่ (จากการจำแนกประเทศตามรายได้: 74.9% [95% CI, 71.1-78.6%] ใน HIC; 56.5% [95% CI, 53.4-58.6%] ใน UMIC; 42.6% [95% CI, 39.6-45.6%] ใน LMIC และ 38.1% [95% CI, 33.1-43.2%] ใน LIC) และแม้ระดับการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นตามรายได้ของประเทศที่สูงขึ้น แต่แนวโน้มนี้ก็ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ความชุกต่ำสุดของการรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการพบในกลุ่ม LIC (25.8%; 95% CI, 13.0-44.8%) เทียบกับ LMIC (43.2%; 95% CI, 30.0-57.4%), UMIC (45.1%, 95% CI, 30.9-60.1%) และ HIC (43.4%, 95% CI, 21.0-68.7%)  

            ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย CHD หรือสโตรคจากประเทศที่มีความแตกต่างด้านรายได้ชี้ว่า ความชุกของพฤติกรรมวิถีชีวิตสุขภาพดีอยู่ในระดับต่ำ และยิ่งต่ำลงในกลุ่มประเทศยากจน