เปรียบเทียบกลูตามีนและสารต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยวิกฤต

เปรียบเทียบกลูตามีนและสารต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยวิกฤต
N Engl J Med 2013;368:1489-1497.

บทความวิจัยเรื่อง A Randomized Trial of Glutamine and Antioxidants in Critically Ill Patients รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเสริมกลูตามีนและสารต้านอนุมูลอิสระ ตามที่คาดว่าอาจให้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตซึ่งมีภาวะเครียดออกซิเดชั่นที่สูง 

นักวิจัยใช้วิธีศึกษาแบบ blinded 2-by-2 factorial trial โดยสุ่มให้ผู้ป่วยวิกฤต 1,223 รายในหน่วยวิกฤต 40 แห่งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งมีภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายอวัยละและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้รับการเสริมกลูตามีน สารต้านอนุมูลอิสระ กลูตามีนและสารต้านอนุมูลอิสระ หรือยาหลอก โดยเริ่มภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากรับเข้าหน่วยวิกฤต และให้ผ่านหลอดเลือดดำและทางสายยาง นักวิจัยกำหนดให้การตายที่ 28 วันเป็น primary outcome และกำหนดให้ค่า P ที่ต่ำกว่า 0.044 จาก final analysis ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ

การศึกษาพบแนวโน้มอัตราตายสูงขึ้นที่ 28 วันในผู้ป่วยที่ได้กลูตามีนเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กลูตามีน (32.4% vs 27.2%; adjusted odds ratio, 1.28; 95% confidence interval [CI], 1.00-1.64; p = 0.05) การตายในโรงพยาบาลและการตายที่ 6 เดือนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในผู้ที่ได้กลูตามีนเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กลูตามีน ขณะที่กลูตามีนไม่มีผลต่ออัตราอวัยวะล้มเหลวหรือภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ อีกด้านหนึ่งพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระไม่มีผลต่อการตาย 28 วัน (30.8% vs 28.8% ในกลุ่มที่ไม่ได้สารต้านอนุมูลอิสระ โดยมี adjusted odds ratio เท่ากับ 1.09; 95% CI, 0.86-1.40; p = 0.48) หรือ secondary endpoint อื่น และไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มในด้านเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (p = 0.83)

            ข้อมูลจากการศึกษารายงานว่า การให้กลูตามีนหรือสารต้านอนุมูลอิสระโดยเร็วไม่ได้ช่วยฟื้นฟูผลลัพธ์ทางคลินิก และกลูตามีนยังสัมพันธ์กับการตายที่สูงขึ้นในผู้ป่วยวิกฤตที่อวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะ