สาธารณสุขชายแดนไทย-พม่า กับการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์

สาธารณสุขชายแดนไทย-พม่า กับการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์

ด้วยความสำคัญของการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้าของกลุ่มผู้อพยพข้ามพรมแดนชั่วคราวและกลุ่มผู้อพยพระยะยาวจากประเทศพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันถือเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการดูแลจัดการอย่างเหมาะสม ได้นำไปสู่ความคิดริเริ่มทางด้านนโยบายและแผนการจากรัฐบาลทั้งสองประเทศรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น แนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้คือ การกระตุ้นให้รัฐบาลของประเทศแต่ละฝ่ายรวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยและนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องของการริเริ่มแผนงานและการดำเนินการที่นำไปสู่การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา การดูแล และการสนับสนุนด้านบริการต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์แก่กลุ่มผู้อพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์

คณะตัวแทนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จึงได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ The Join UN Initiative on Migrant Health and HIV in Asia (JUNIMA) จัดการประชุมหารือแบบทวิภาคีเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาแบบถ้วนหน้าด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แก่กลุ่มผู้อพยพ โดยมีวัตถุปุระสงค์หลักเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคณะตัวแทนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า องค์กรจากภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ จากองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพแบบทั่วไป และการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แก่กลุ่มผู้อพยพชาวพม่าในประเทศไทย

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่าในครั้งนี้เป็นการประชุมหารือแบบทวิภาคี เพื่อพูดคุยและนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องของการริเริ่มแผนงานและการดำเนินการที่นำไปสู่การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา การดูแล และการสนับสนุนด้านบริการต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์แก่กลุ่มผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในประเด็นเรื่องการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์

“คนไทยทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิในการได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ในขณะที่กลุ่มของแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการดูแลในส่วนนี้ เกิดเป็นช่องว่างในสังคมขึ้น ซึ่งการที่เราจะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีไปยังคนอื่นได้นั้นจะต้องกระจายยาให้ครอบคลุมถึง 90% เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งนอกเหนือจากการปรับพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว หากตรวจพบได้ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและให้ยาตั้งแต่ต้นน้ำก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อออกไปได้”

โดยขณะนี้ประเทศไทยได้วางแผนยุทธศาสตร์หลักที่จะทำให้เกิด Getting to Zero คือเข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ศูนย์แรกคือ การที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero new infection) ศูนย์ที่สองคือ การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (Zero death) และศูนย์สุดท้ายคือ การไม่มีการตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (Zero stigma and discrimination) โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016)

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติอยู่ถึง 3 ล้านคน ซึ่ง 70-80% เป็นชาวพม่า การที่มีการประชุมแบบทวิภาคีและการสร้างความร่วมมือร่วมกันในลักษณะนี้เกิดขึ้นจะทำให้มีการเข้าถึงยาได้โดยสม่ำเสมอ และมีการติดตามต่อข้ามประเทศทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น 

“แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปัจจุบันมีในทุกจังหวัด ซึ่งเราได้จัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับแรงงานเหล่านี้ให้ได้ซื้อประกันสุขภาพและตรวจสุขภาพอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของการตรวจเชื้อเอชไอวีจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งหากผลเลือดออกมาเป็น positive ขณะนี้เรามีโครงการ NAPHA EXTENSION เพื่อให้บริการยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยการสนับสนุนจากโครงการกองทุนโลก ด้านการดูแลรักษา ซึ่งโครงการนี้จะให้ยาต้านไวรัสเอดส์ หรือเออาร์วี (antiretroviral : ARV) สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในสิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคและระบบดูแลสุขภาพของหน่วยงานให้บริการ เพื่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์อย่างครบถ้วนและต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนโลก แต่ในขณะนี้พบปัญหาเนื่องจากกองทุนโลกประเมินประเทศไทยเป็น upper middle income country คือเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับเงินสนับสนุนตรงนี้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการขอเงินสนับสนุน จากเดิมที่ขอมาให้เฉพาะประเทศไทย เปลี่ยนมาเป็นให้ทั้งภูมิภาค ซึ่งตอนนี้ได้มาเบื้องต้นในโรคมาลาเรีย โดยได้มา 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 5 ประเทศคือ ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และกำลังจะขอเพิ่มในส่วนของวัณโรค และโรคเอดส์ ซึ่งโรคเอดส์คาดว่าน่าจะต้องใช้เงินสนับสนุนมากกว่านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำคอนเซ็ปต์เปเปอร์” 

ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ยังถือเป็นการรองรับ AEC อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่มีทั้งแรงงานที่เป็นผลพวงมาจาก AEC และแรงงานที่มีการเดินทางเข้า-ออกอยู่เดิม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบบริบทของแต่ละชายแดนในแต่ละประเทศ เพื่อการวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้อง

“เราจะต้องวางแผนรองรับให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น กัมพูชาและพม่าเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคเอดส์สูงกว่าไทย เพราะฉะนั้นไทยก็จะนำเข้าโรคเอดส์จากกัมพูชาและพม่า ขณะเดียวกันลาวและมาเลเซียเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์ต่ำกว่าไทยมาก ผลคือเราส่งออกโรคเอดส์ให้ลาวและมาเลเซีย โรงพยาบาลตามชายแดนจึงมีบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นโรคที่เป็นปัญหาในแต่ละชายแดน ซึ่งในเบื้องต้นเราคุยทวิภาคีกับพม่าก่อนเพราะมันไม่ใช่แค่จัดหายาในประเทศเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าเมื่อเขากลับไปในประเทศเขาจะได้ยาต่อเนื่องอย่างไร มิฉะนั้นไปขาดยาที่โน่นก็จะกลายเป็นเชื้อดื้อยาอีก เพราะฉะนั้นการมีสัมพันธภาพที่ดีและไปสร้างระบบทั้งภูมิภาคเป็นเรื่องจำเป็น”

หากมองถึงอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศพม่า พบว่าสูงกว่าประเทศไทยแต่น้อยกว่าประเทศกัมพูชา แต่เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย 70-80% เป็นชาวพม่า จึงต้องมีการพูดคุยและประสานความร่วมมือกับประเทศพม่าก่อนในเบื้องต้น ซึ่งถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะสูงและเป็นปัญหา แต่ถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมกำกับได้ด้วยการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทวิภาคี เพื่อจัดระบบให้ครอบคลุมให้ผู้อพยพชาวพม่าในประเทศไทยได้เข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์

สำหรับประเทศไทย ทุกคนมีสิทธิได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ตามสิทธิทั้ง 3 กองทุน แต่อาจจะมีนิยามศัพท์ กลไกในการจ่าย สิทธิประโยชน์แตกต่างกันบ้าง ซึ่งกำลังหารือเพื่อทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเพิ่มในเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งผลจากการประชุมร่วมในครั้งนี้จะทำให้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่าสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และจะมีกลไกการติดตามเมื่อกลับไปประเทศของตนเพื่อรับยาต่อ โอกาสที่จะดื้อยาก็จะลดน้อยลง สัมพันธภาพระหว่างประเทศจะดีขึ้นตามไปด้วย 

            “ปัจจุบันการรักษาและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยนับว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ระบบบริการสุขภาพที่เข้มแข็งทำให้สามารถให้บริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 80 รวมถึงการให้บริการปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบ”

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีแนวพรมแดนติดกับประเทศพม่า 10 จังหวัด ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมาถึง จ.ระนอง เป็นระยะทาง 2,401 กิโลเมตร ซึ่งมีความร่วมมือด้านสาธารณสุขมาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนวัยแรงงาน ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานจำนวนมาก ซึ่งมากที่สุดคือพม่า ดังนั้น ต้องจัดระบบการดูแลเพื่อให้แรงงานต่างด้าวทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ลดความเสี่ยงให้ประชากรไทย โดยมีนโยบายจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้แรงงานต่างด้าวและครอบครัวทุกคนต้องผ่านการตรวจสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข และให้มีหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สิทธิประกันสังคม หรือบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้แรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยที่มี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม และรอเข้าสู่ระบบประกันสังคม กำหนดซื้อในอัตราคนละ 1,150 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ จำนวน 550 บาท มีอายุคุ้มครอง 90 วัน หลังจากนั้นจะอยู่ในความดูแลของระบบประกันสังคม กลุ่มคนต่างด้าวทั่วไปที่ใช้แรงงานและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น รับจ้างทำงานภาคเกษตร ประมง ก่อสร้าง หรือติดตามครอบครัว อัตราคนละ 2,800 บาท ประกอบด้วยค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี และกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ อัตราคนละ 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปีนับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ

ทั้งนี้การประชุมหารือแบบทวิภาคีครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาช่องว่างเรื่องการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้าและการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแก่กลุ่มผู้อพยพ แต่ยังต้องการระดมความคิดและสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาช่องว่างดังกล่าว นอกจากนี้ยังมุ่งให้เกิดการจัดลําดับความสําคัญร่วมกันของทุกภาคส่วนในเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้า และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแก่กลุ่มผู้อพยพอีกด้วย

โดยผลที่คาดหมายว่าจะได้รับจากการประชุมหารือแบบทวิภาคีในครั้งนี้คือ การร่วมกันพัฒนาแผนดําเนินงานที่อิงกรอบเวลาอย่างชัดเจน เพื่อนําไปสู่การจัดทําโครงการความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและพม่าที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการให้บริการด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้าและต่อเนื่องแก่ผู้อพยพจากพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทยจะบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การประชุมแบบทวิภาคีครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนความคิดริเริ่มในเรื่องการส่งเสริมนโยบายหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพเกี่ยวกับโรคเอดส์ ซึ่งความสําเร็จของการประชุมครั้งนี้อาจถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจแก่ประเทศที่กําลังพัฒนาอื่น ๆ ที่กําลังดําเนินงานตามนโยบายหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า

ภาพประกอบ 3 ภาพ

“จากการประชุมครั้งนี้ ผมคิดว่าเราได้ข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ ที่เคยเป็นปัญหาและเป็นช่องว่างระหว่างประเทศไทยและพม่า ซึ่งจะช่วยให้ประเทศทั้งสองก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ” - นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  

“ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นอันนำไปสู่แผนการดำเนินงานเรื่อง การส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และผมหวังว่าเราจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น” - Dr.Kyaw Khaing รักษาการผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขระหว่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศพม่า

 

“ดิฉันขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน พวกท่านได้ร่วมกันทำสิ่งต่าง ๆ หลายอย่างที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และดิฉันขอให้ความมั่นใจแก่ทุกท่านว่า การประชุมหารือครั้งนี้จะมิใช่เป็นเพียงกิจกรรมที่เสร็จสิ้นไปเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเราทุกคน” - ต้องตา เขียวไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา UNDP ประเทศไทย