การตาย ณ สถานดูแลคนชราและการชันสูตรพลิกศพ: รายงานผู้ตาย 1 ราย

การตาย ณ สถานดูแลคนชราและการชันสูตรพลิกศพ: รายงานผู้ตาย 1 ราย 
Death In Geriatric Care Unit And Post-Mortem Inquest: A Case Report  
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

       ในสถานการณ์การดำรงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันนับว่าเป็นความยากลำบากยิ่งสำหรับปัจเจกชนทั่วไป ทั้งนี้เพราะความฝืดเคืองของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้แต่ละคนต้องดิ้นรนเพื่อการยังชีพ เวลาที่มีในแต่ละวันจึงต้องใช้ไปกับการทำงานทั้งงานอันเป็น “งานปกติ” และ “งานพิเศษ” เพื่อให้พอกับค่าครองชีพในสังคมปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า หากผู้นั้นต้องมีผู้ชราภาพอยู่ในความดูแลด้วยแล้ว เวลาที่ต้องใช้ไปกับการทำงานจะทำให้มีเวลาที่อาจดูแลผู้สูงอายุต้องลดลงเป็นธรรมดา หมายความว่า “ผู้ชรา” ย่อมต้องขาดผู้ที่ต้องดูแลโดย “ญาติ” ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ลูก หลาน หรือทายาทชั้นอื่น ๆ ก็ตาม สถานดูแลผู้ชราภาพจึงเป็นส่วนหนึ่งที่อาจช่วยเหลือในการดูแลผู้สูงอายุแทนผู้ที่มีเวลาอันน้อยนิดนั้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสถานรับดูแลผู้ที่ชราภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าในภาครัฐไม่เพียงพอต่อการที่จะดำเนินการได้ ภาคเอกชนจึงจำต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากความชราภาพของบุคคลในกลุ่มนี้นั่นเองจึงพบว่าไม่นานนัก ผู้ที่ชราภาพเหล่านี้ก็จะถึง “แก่ความตาย” เพราะอายุขัยแห่งตน ณ สถานที่ที่ดูแล

 

            …………………………………………ฯลฯ

            เหตุที่จัดว่า “การตายจากชราในสถานดูแลคนชราเป็นการตายผิดธรรมชาติ ตามมาตรา 148(5)” เป็นการตายที่เกิดขึ้นในที่รโหฐาน (สถานดูแลคนชราต้องถือว่าเป็นที่รโหฐาน) จึงเป็นการยากที่จะรู้หรือทราบได้ว่าการตายเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ทั้งนี้เนื่องจาก

            1. แม้ว่าจะเป็นคนชรา ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจากเหตุ “ชราภาพ”

            2. แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจาก “โรคติดต่อ” นั้น

            3. แม้ว่าจะเป็นระยะท้ายของเนื้อร้าย เช่น มะเร็ง ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจาก “โรคเนื้อร้าย/มะเร็ง” นั้น

 

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ชราภาพเสียชีวิต ณ สถานดูแลผู้ชรา 1 ราย)

            ประวัติที่ได้รับแจ้ง:

            ผู้ชราภาพชาย อายุ 75 ปี เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ณ สถานเลี้ยงดูผู้ชรา (ภาพที่ 1)

            ประวัติ:

            ผู้เสียชีวิตชายชรามาอยู่ ณ สถานดูแลผู้ชรา ถูกรับไว้ที่สถานดูแลผู้ชรามา 3 ปีแล้ว และมีประวัติการดูแลบำบัด (ภาพที่ 2) โดยเมื่อแรกรับมีอายุ 72 ปี มีสภาพร่างกายชราแต่ยังคงสามารถช่วยตัวเองได้บ้าง ยังสามารถเดินโดยใช้เครื่องค้ำยัน 4 ขาช่วย (walker) แต่จะเดินค่อนข้างช้า

            ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง จนเมื่อช่วงเช้าของวันที่เสียชีวิตโดยเวลาประมาณ 8.00 น. หลังจากได้รับการป้อนอาหารทางสายยางแล้ว ต่อมาได้รับการเช็ดตัวและทำแผล (แผลกดทับที่บริเวณสะโพกและก้นกบ) มีหลายแผลบางแผลมีขนาดใหญ่และลึก ผู้ป่วยยังคงมีสภาพรู้สึกตัวอย่างเช่นทุกวัน

            ต่อมาราว 8.30 น. ผู้ดูแลเห็นผู้ชราในความดูแลแน่นิ่งอยู่ จึงเข้ามาตรวจดูพบว่าไม่หายใจ ไม่มีชีพจร และตัวเริ่มเย็นลงแล้ว

            จึงได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจที่สถานดูแลคนชราตั้งอยู่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อแพทย์ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพเพื่อเข้าร่วมดำเนินการตามกฎหมายด้วย

            การชันสูตรพลิกศพ:

            ผู้เสียชีวิต (ผู้ชรา) ได้รับการชันสูตรพลิกศพ ณ เตียงที่นอนพำนักในสถานดูแลคนชราที่แจ้งการเสียชีวิตนั้น โดยยังมีสภาพทั่วไปดังที่เป็นอยู่

            สภาพศพภายนอก: (ภาพที่ 3)

            - ศพชายชรา อายุประมาณ 75 ปี รูปร่างผอมมาก นอนบนเตียงคล้ายเตียงผู้ป่วยในสถานพยาบาล หนุนหมอน ที่ขอบเตียงมีที่กั้นมิให้ตกลงมา ที่บริเวณจมูกมีสายสอดเพื่อให้อาหารเหลว ขาทั้งสองข้างงอพับมากที่เข่า แขนทั้งสองข้างงอพับ เท้าบวมเล็กน้อยถึงปานกลาง

            - ตัวศพยาวประมาณ 165 เซนติเมตร (คาดคะเนจากสภาพศพเนื่องจากการงอที่ข้อเข่าและสะโพก) อยู่ในชุดเสื้อแขนสั้นสีอ่อน และส่วนล่างของบริเวณเชิงกรานมีผ้าซับของเหลวชนิดผู้ใหญ่หุ้มไว้ 

            - ศพแข็งตัวปานกลาง พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำหลังเสียชีวิตที่หลังได้ปานกลาง เนื่องจากสภาพศพค่อนข้างซีด

            - รอบคอไม่พบบาดแผลบดหรือรัด

            - หน้าอกเห็นกระดูกซี่โครง ลักษณะค่อนข้างขาดสารอาหาร

            - พบบาดแผลกดทับขนาดใหญ่และค่อนข้างลึก (ลงใต้กว่าชั้นกล้ามเนื้อ) ที่บริเวณสะโพกและก้นกบ (ภาพที่ 4) ลักษณะของกลิ่นและสีที่แสดงถึงการติดเชื้อ

            - ไม่พบบาดแผลสดหรือรุนแรงตามร่างกายและแขนขา

            - ไม่พบคราบหรือสารผิดปกติที่รอบปาก จมูก หู และทวารหนัก

            ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตาย:

            จากสภาพแห่งการตรวจพบจากภายนอกเห็นได้ว่าบาดแผลกดทับที่ปรากฏนั้นค่อนข้างจะใหญ่ ลึก และมีสภาพติดเชื้อ ประกอบกับการที่ผู้ป่วยอายุมาก สภาพผอม และน่าจะขาดสารอาหารร่วมด้วย ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่น่าจะค่อนข้างต่ำ สาเหตุแห่งการตายในผู้ชรานี้จึงเข้าได้กับ “การติดเชื้อจากบาดแผลกดทับ”

            พฤติการณ์แห่งการตาย:

            สันนิษฐานเข้าได้กับการติดเชื้อที่เป็นเหตุตามธรรมชาติร่วมกับความชรา

 

วิเคราะห์และวิจารณ์

            อาจวิเคราะห์การตายอันเนื่องจากความชราของผู้นั้น โดยการตายเกิดขึ้นในสถานดูแลคนชราได้ดังนี้

          ประการที่ 1: สภาพแห่งผู้สูงอายุหรือคนชรา

            ด้วยสภาพของผู้ชราภาพหรือผู้สูงอายุจึงอาจเรียกบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใน “วาระสุดท้ายของชีวิต” จำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “เด็กเล็ก” ผู้ที่ดูแลจึงต้องพิถีพิถันและให้ความสำคัญต่อการดูแลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากสภาพความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร (ย่อยอาหาร) ทำให้ผู้ชราไม่สามารถย่อยอาหารได้ดี หรืออาหารสำหรับผู้ชราย่อมต้องเป็นอาหารอ่อนเพราะผู้ชรามักไม่มีฟันที่จะเคี้ยวอาหาร เป็นต้น ด้วยความจำกัดในหลายด้านและหลายระบบของร่างกายทำให้ผู้ชรามักขาดสารอาหารและมีภูมิต้านทานต่อโรคที่ต่ำและเสียชีวิตได้ง่าย

 

          ประการที่ 2: ผู้สูงอายุหรือชราภาพกับการตายตามธรรมชาติ

            การตายจากเหตุธรรมชาติย่อมหมายถึง การตายจาก “โรค” หรือ “การตายอันเนื่องจากสังขารคือสูงอายุหรือชรา” แต่หากเป็นการตายที่เกิดขึ้น ณ สถานพยาบาลที่มีแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ดูแลอยู่ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า “เป็นการเสียชีวิตเนื่องจากเหตุธรรมชาติ” แต่หากวาระสุดท้ายแห่งชีวิต แม้ว่าจะเป็นจากเหตุ “ชราภาพ” แต่มิได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ (ในสถานพยาบาล) แล้วย่อมอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นได้ จึงต้องจัดให้การตายนั้นอยู่ในกลุ่มของ “การตายโดยมิปรากฏเหตุไปพลางก่อน” ต่อเมื่อผ่านกระบวนการชันสูตรพลิกศพตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และเห็นว่าเป็นการตายตามธรรมชาติก็ย่อมจะจัดการให้เป็นไปอย่าง “การตายตามธรรมชาติ” นั่นเอง

 

            ประการที่ 3: สถานดูแลผู้ชรามิใช่สถานพยาบาล (ภาพที่ 5)

            แพทย์ต้องระลึกไว้ว่า “สถานดูแลคนชรามิใช่สถานพยาบาล” แม้ว่าจะมีเตียงที่พำนัก สถานที่ และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์หรือพยาบาลประจำอยู่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) หรือใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า) ได้ จึงต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการเสียชีวิตที่บ้านหรือที่สาธารณะ นั่นคือจำเป็นต้องจัดให้มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายด้วย โดยถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติชนิดทั่วไป น่าจะเข้าข่ายตามมาตรา 148(5) ไปพลางก่อนได้ ผู้ชันสูตรพลิกศพจึงประกอบด้วยพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และแพทย์ผู้ที่มีหน้าที่ตามลำดับ ที่ระบุไว้ในมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา1

            ดังนั้น “การตายในขณะที่อยู่ในความดูแลของสถานดูแลผู้ชราภาพต่าง ๆ” จึงต้องถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติไว้ก่อน

 

            ประการที่ 4: ประเด็นข้อสงสัยการตายจากความชรา

            เมื่อมีการเสียชีวิต ณ สถานดูแลคนชราไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม ในทางกฎหมายถือว่าเป็น “การตายโดยมิปรากฏเหตุ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148(5) นั่นเอง1 ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็อาจเกิดความสงสัยว่า “คนที่ชราภาพแล้วเสียชีวิตจะเป็นการตายโดยมิปรากฏเหตุได้อย่างไร” เพราะเหตุก็คือ “ชราภาพ” นั่นเองรู้อยู่แล้ว ในเรื่องนี้หากจะอธิบายตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายแล้วก็อาจได้ความกระจ่างดังนี้

            เหตุที่จัดว่า “การตายจากชราในสถานดูแลคนชราเป็นการตายผิดธรรมชาติ ตามมาตรา 148(5)” เป็นการตายที่เกิดขึ้นในที่รโหฐาน (สถานดูแลคนชราต้องถือว่าเป็นที่รโหฐาน) จึงเป็นการยากที่จะรู้หรือทราบได้ว่าการตายเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ทั้งนี้เนื่องจาก

            1. แม้ว่าจะเป็นคนชรา ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจากเหตุ “ชราภาพ”

            2. แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจาก “โรคติดต่อ” นั้น

            3. แม้ว่าจะเป็นระยะท้ายของเนื้อร้าย เช่น มะเร็ง ก็มิได้หมายความว่าจะต้องตายจาก “โรคเนื้อร้าย/มะเร็ง” นั้น

            ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดให้การตาย (classified) ที่เกิดขึ้น ณ ที่ที่มิใช่ “สถานพยาบาล” เป็นการตายผิดธรรมชาติ (unnatural death) ไว้ก่อน เพื่อที่จะมิให้เกิดกรณีสงสัยหรือ “เคลือบแคลง” ในสาเหตุการตายในภายหลังนั่นเอง

 

            ประการที่ 5: สาเหตุแห่งการตายที่เป็นความผิดในทางอาญา2

            การตายที่เกิดขึ้นในสถานดูแลคนชรานี้อาจแบ่งการตายที่เข้าข่ายเป็นความผิดอาญาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ            

                      สาเหตุที่ 1: สาเหตุจากการถูกฆาตกรรม (เจตนา)

                        ผู้สูงอายุอยู่ก็มีสภาพที่คล้ายเด็กหรือผู้ป่วย คือ ไม่สามารถช่วยตนเองได้จึงอาจเกิดกรณีการเสียชีวิตจากผู้ที่ไม่หวังดี (เจตนาให้ตาย) ได้ เช่น

                        ก. การทำให้ขาดอากาศ (asphyxia) เพราะช่วยเหลือตัวเองมิได้ อาจเอาหมอนอุดปากและจมูก บีบคอ เป็นต้น

                        ข. การถูกวางยาพิษ (poisoning or intoxication) จากการที่ต้องอาศัยผู้อื่นในการเตรียมอาหารและน้ำทั้งหมด จึงอาจเป็นไปได้หากผู้ที่ดูแลวางยาพิษ หรือเพราะความพลั้งเผลอของผู้ดูแลทำให้อาจมีผู้ที่ไม่หวังดีใส่สารพิษอย่างหนึ่งอย่างใดลงในอาหารหรือน้ำได้

                        ค. จากบาดแผลในตำแหน่งที่ยากต่อการเห็น (wound) เช่น มีเจตนาฆ่าผู้ชรา อาจกระทำในตำแหน่งที่ลับ เช่น ที่ทวารหนัก เป็นต้น และแพทย์ก็ไม่ค่อยได้ตรวจรอบทวารหนักนัก

                        ง. การทำให้ขาดอาหารเพราะไม่อาจช่วยตนเองได้ (starvation and/or electrolyte imbalance) เจตนาทำให้ตายง่ายมาก เพียงแต่ไม่ให้คนชรากินน้ำและอาหารเท่านั้นก็จะถึงแก่ความตายได้แล้ว เพราะคนชราจะช่วยตนเองได้น้อยมาก

                        จ. จากสารกายภาพต่าง (physical agents) อาจเป็นจากความร้อนหรือความเย็นของอากาศ จากรังสี แสง เสียง ฯลฯ ซึ่งหากต้องการให้ผู้ชราถึงแก่ความตายย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ชราต้องสารกายภาพเหล่านี้ได้ ก็จะถึงแก่ความตาย (โดยเจตนา) เป็นต้น

                        ฐานความผิดประกอบด้วย2

                        ก. เจตนาโดยแท้

                        หมายถึงการที่มีผู้ที่ต้องการให้ผู้ชราภาพนั้นถึงแก่ความตาย จึงเป็นการทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเจตนานั่นเอง

                        มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

                   มาตรา 289 ผู้ใด

                   ………………………………ฯลฯ

                   (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

                   (5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

                   ………………………………ฯลฯ

                        ต้องระวางโทษประหารชีวิต

                        ข. เจตนาเพียงทำร้ายแต่ทำให้ถึงแก่ความตาย

                        กรณีนี้ผู้กระทำไม่ต้องการทำให้ผู้ชราถึงแก่ความตาย แต่ต้องการทำร้ายร่างกาย เช่น ต้องการแกล้ง หยิก บีบ รัด ฯลฯ แต่เผอิญทำรุนแรงไป ทำให้ผู้ชราถึงแก่ความตาย เราอาจเรียกการตายในทำนองนี้ว่า “ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา” แท้ที่จริงมีเจตนาคือ “การทำร้ายร่างกาย” เท่านั้น

                        มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

                   ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี

                        ค. เจตนาต่อผู้ที่ตนมีหน้าที่  (มีหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่)

                        น่าจะเข้าข่ายได้มากที่สุดกรณีที่สถานดูแลคนชรานั้นมีผู้ดูแลที่มิได้เอาใจใส่ต่อผู้ชรานั้น เช่น มัวแต่คุยโทรศัพท์ หรือส่งข้อความถึงกันและกันโดยมิได้ให้ความสนใจต่อผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของตน เหตุที่ต้องถือว่าเป็น “เจตนา” เพราะผู้ดูแลเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทั้งสิ้น

                        มาตรา 307 ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการหรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสีย โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   สาเหตุที่ 2: สาเหตุจากการปล่อยปละละเลยหรือประมาท

                        ประมาทเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยการปล่อยปละละเลย ซึ่งอาจใกล้เคียงกับการทอดทิ้งหน้าที่ในการดูแลผู้ชราก็ได้

                        มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

            จะเห็นได้ว่า ประการที่ 5 นี้มีฐานความผิดทางอาญาอยู่หลายมาตรา หลายเรื่อง เมื่อเกิดกรณีที่ผู้อยู่ในความดูแลถึงแก่ความตายจึงอาจเข้าข่ายการฟ้องร้องโดยญาติได้

 

            ประการที่ 6: การชันสูตรพลิกศพผู้ชราภาพที่เสียชีวิตนอกสถานพยาบาล

            การชันสูตรพลิกศพไม่ว่าจะเป็นกรณีใดตามกฎหมาย (มาตรา 148) นั้น “ต้อง” ดำเนินการตามหลักแห่ง “การชันสูตรพลิกศพ” ไว้เสมอ

            1. ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25253

            2. ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา พ.ศ. 2555,4 (เริ่มประกาศเมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2555)

            3. ตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.  25555 (เริ่มประกาศเมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2555)

            4. ตามหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148-1561

            การชันสูตรพลิกศพเป็นกระบวนการที่แพทย์ต้องทราบ และถือว่าเป็นงานที่แพทย์ต้องช่วยเหลือสังคม (ตำรวจ) ในการทำงาน ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย

 

            ประการที่ 7: ชันสูตรพลิกศพเสร็จก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องนำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ

            หมายความว่า เมื่อได้ทำการชันสูตรพลิกศพเสร็จ (ตามมาตรา 150) แล้วไม่จำเป็นต้องส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ (ตามมาตรา 151 และ 152) ทั้งนี้เพราะเมื่อไม่มีข้อสงสัยในสาเหตุการตายในคนชราเหล่านั้น แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนก็สามารถออก “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” และ “ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า)” ให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 25346 ต่อไป

            หมายเหตุ:

            หากการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นพบว่าการตายอาจเกิดเนื่องจากสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดในประการที่ 5 ดังกล่าวมาแล้ว แพทย์ต้องระบุไว้ในแนวทางการดำเนินการในบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ ตามมาตรา 151 และมาตรา 152 เสมอ1 แพทย์ต้องไม่ประมาทและคิดไปเองว่า “คนชราย่อมตายจากโรคชรา” เพราะแท้ที่จริงอาจมิใช่เช่นนั้นก็ได้

 

            ประการที่ 8: ในรายผู้ตายตามอุทาหรณ์

            ในรายผู้ที่เสียชีวิตในกรณีอุทาหรณ์นั้น การชันสูตรพลิกศพพบว่า “ผู้ตายมีแผลติดเชื้อตามร่างกายหลายแห่ง” และเป็นสาเหตุแห่งการตายตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ตาย (ผู้ชรา) ติดเชื้อตามร่างกายนั้นก็อาจเป็นประเด็นแห่งคดีความได้ กล่าวคือ “ผู้ที่ดูแลอาจถูกกล่าวหาว่าประมาทในการดูแลเป็นเหตุให้ผู้ตายติดเชื้อจนถึงแก่ความตายตามมาตรา 307 แห่งประมวลกฎหมายอาญา2 ดังได้กล่าวมาแล้วได้ แต่แม้จะมิได้มีการดำเนินการตรวจศพตามมาตรา 152 ก็ตามแต่ เพียงตรวจพบบาดแผล ณ เวลาที่ชันสูตรพลิกศพก็เพียงพอที่จะให้เป็นสาเหตุแห่งการตายแล้ว

 

สรุป

            การตายของผู้ชราภาพไม่ว่าจะเป็นการตาย ณ สถานดูแลผู้ชราทั้งของภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมถึงการตาย ณ ที่บ้าน ที่พำนัก หรือที่สาธารณะใด ๆ ต้องถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น และจำต้องให้มีการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148-156 เสมอ โดยแพทย์ที่มีหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรา 150 และแพทย์ผู้มีหน้าที่จะต้องระลึกไว้เสมอว่าการตายที่ได้รับแจ้งเพื่อการชันสูตรพลิกศพเป็น “การตายผิดธรรมชาติ” ไม่แตกต่างจากการตายผิดธรรมชาติด้วยเหตุอื่น ๆ ตามมาตรา 148 ที่จะต้องจัดให้มีการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด

 

เอกสารอ้างอิง

          1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

            2. ประมวลกฎหมายอาญา. http://www.dopa.go.th/dopanew/law/02.pdf

            3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

            4. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/ 2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

            5. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

            6. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๐๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๙๗/๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔.