Fibrinolysis หรือ Primary PCI ในกล้ามเนื้อหัวใจตาย ST-Segment Elevation
N Engl J Med 2013;368:1379-1387.
บทความเรื่อง Fibrinolysis or Primary PCI in ST-Segment Elevation Myocardial Infarction รายงานว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าการสลายลิ่มเลือดก่อนนำส่งโรงพยาบาลร่วมกับ coronary angiography ให้ผลลัพธ์ทางคลินิกใกล้เคียงกับการทำ primary percutaneous coronary intervention (PCI) โดยเร็วภายหลังเกิด ST-segment elevation myocardial infarction (STEMI) ฉับพลันหรือไม่
นักวิจัยศึกษาจากผู้ป่วย STEMI 1,892 ราย ซึ่งนำส่งโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และไม่สามารถทำ primary PCI ภายในหนึ่งชั่วโมง โดยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย primary PCI หรือ fibrinolytic therapy ด้วย bolus tenecteplase (ลดขนาดลงครึ่งหนึ่งในผู้ป่วยที่อายุ ≥ 75 ปี), clopidogrel และ enoxaparin ก่อนส่งโรงพยาบาลที่สามารถทำ PCI โดยทำ coronary angiography ฉุกเฉินเมื่อ fibrinolysis ล้มเหลว หรือทำในช่วง 6-24 ชั่วโมงหลังการสุ่ม และ primary endpoint ได้แก่ ผลลัพธ์รวมของการตาย ช็อก หัวใจวายชนิดเลือดคั่ง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำที่ 30 วัน
มีรายงาน primary endpoint เกิดขึ้นในผู้ป่วย 116 ราย จาก 939 ราย (12.4%) ในกลุ่ม fibrinolysis และ 135 ราย จาก 943 ราย (14.3%) ในกลุ่ม primary PCI (relative risk ในกลุ่ม fibrinolysis เท่ากับ 0.86; 95% confidence interval, 0.68-1.09; p = 0.21) และจำเป็นต้องทำ angiography ฉุกเฉินใน 36.3% ของผู้ป่วยในกลุ่ม fibrinolysis และที่เหลือทำที่เฉลี่ย 17 ชั่วโมงหลังการสุ่ม ทั้งนี้พบการเกิดเลือดออกในสมองมากกว่าในกลุ่ม fibrinolysis เทียบกับกลุ่ม primary PCI (1.0% vs 0.2%, p = 0.04; ภายหลังปรับแก้โครงร่างเท่ากับ 0.5% vs 0.3%, p = 0.45) ขณะที่อัตราการเกิด nonintracranial bleeding ใกล้เคียงกันในทั้งสองกลุ่ม
การสลายลิ่มเลือดก่อนนำส่งโรงพยาบาลร่วมกับ coronary angiography สามารถเปิดหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ป่วย STEMI ระยะแรก ซึ่งไม่สามารถทำ primary PCI ภายใน 1 ชั่วโมงหลังขอความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี การสลายลิ่มเลือดก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเล็กน้อยต่อเลือดออกในสมอง