“Exercise is Medicine” สั่งยาด้วยการออกกำลังกาย หน้าใหม่วงการแพทย์ไทย

“Exercise is Medicine” สั่งยาด้วยการออกกำลังกาย หน้าใหม่วงการแพทย์ไทย

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสถิติการออกกำลังกายของประชากรอายุมากกว่า 11 ปีขึ้นไปลดลงจาก 29.1% ในปี พ.ศ. 2547 เหลือ 26.1% ในปี พ.ศ. 2554 จากวิถีชีวิตที่เร่งรีบแข่งขัน สิ่งอำนวยต่อความสะดวกในการใช้ชีวิตมีมากขึ้น การขาดความตระหนักในการดูแลตนเองส่งผลให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลง ในจำนวนผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีผู้ที่ออกกำลังกายเกินกว่า 30 นาที เพียง 46% และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ วัยเด็กและวัยสูงอายุมีการออกกำลังกายเพียง 20% และ 8% ตามลำดับ ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอจะนำมาสู่ปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งจากคำแนะนำด้านกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2554 กล่าวถึงสภาวะการออกกำลังกายในปัจจุบันไว้ว่า การขาดการออกกำลังกายนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ทั่วโลก ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และภาวะน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง ประมาณ 31% ของผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี ไม่ได้รับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ แต่ละปีมีอัตราการเสียชีวิตที่มีมูลเหตุจากการขาดการออกกำลังกายมากถึง 3.2 ล้านรายทั่วโลก เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการผลักดันโครงการ Exercise is Medicine ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับเครือข่ายจาก 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Sports Medicine หรือ ACSM) และกลุ่มธุรกิจ โคคา-โคล่า ในประเทศไทย เพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์นำวิธีการ “การสั่งการออกกำลังกาย” หรือ Exercise Prescription ไปใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันและรักษาโรคในประเทศไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสุขภาพโดยรวม ป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อที่ส่งผลให้สภาพร่างกายเสื่อมถอยที่กำลังเป็นมหันตภัยเงียบ เป็นกิจกรรมตั้งรับปัญหาภาวะอ้วนน้ำหนักเกินที่กำลังเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์เบาหวาน ความดันเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อเนื่องในด้านค่ารักษาพยาบาลในระยะยาวอีกด้วย

.นพ.อรรถ นานา คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า   ปัจจุบันมีข้อมูลงานวิจัยที่ทำให้ทราบว่าหลาย ๆ โรคนั้นสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกาย สืบเนื่องมาจากปี ค.ศ. 1996 ทางสำนักงานแพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้มีการรวบรวมผลงานวิจัยที่ผ่านมาในอดีตเพื่อจะยืนยันว่าการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลายาวนานสามารถที่จะป้องกันโรคได้หลาย ๆ โรค โดยโรคที่สามารถป้องกันได้ชัดเจนคือ เส้นเลือดหัวใจอุดตัน เบาหวาน และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น นอกจากการป้องกันโรคแล้ว การออกกำลังกายยังสามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่แล้วได้ด้วย เช่น คนไข้โรคหัวใจเมื่อทำการฟื้นฟูแล้วโรคหัวใจนั้นจะเป็นน้อยลง และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ยากขึ้นด้วย และคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องก็สามารถลดขนาดยาที่ใช้รักษาลงได้ด้วย ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้เกิดความพยายามที่จะรณรงค์ให้การใช้กิจกรรมทางกายมารักษา และป้องกันโรค

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คนนั่งมากขึ้น มีกิจกรรมทางกายน้อยลง จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2554 พบว่าสถิติการออกกำลังกายของประชากรอายุมากกว่า 11 ปีขึ้นไปลดลงจาก 29.1% ในปี พ.ศ. 2547 เหลือ 26.1% ในปี พ.ศ. 2554 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้น โดยทาง ACSM แนะนำว่าควรออกกำลังกายเกินกว่า 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในการดูแลสุขภาพ ซึ่งพบเพียง 46% เท่านั้นที่ทำได้ และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ วัยเด็กและวัยสูงอายุมีการออกกำลังกายเพียง 20% และ 8% ตามลำดับ การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอก็นำมาสู่ปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้จากงบประมาณทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แต่คนไทยกลับไม่ได้มีสุขภาพที่ดีแม้ว่าจะมีงบประมาณทางด้านสาธารณสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นแนวทางการป้องกันโรคจะดีกว่าการรักษาโรค โดยโครงการ Exercise is Medicine จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยในการให้ความรู้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์นำวิธีการ “การสั่งการออกกำลังกาย” หรือ Exercise Prescription ไปปฏิบัติกับคนไข้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้คนไข้แต่ละคนทราบว่าการออกกำลังกายแบบใดที่เหมาะกับตัวเองหรือการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้สุขภาพของคนไทยโดยองค์รวมก็จะดีขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอนาคต

“โครงการ “Exercise is Medicine” ประสบความสำเร็จมาแล้วใน 31 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยในระยะแรกของโครงการ “Exercise is Medicine” ในประเทศไทยนั้น ตั้งเป้าจัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่อง ซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การ “สั่งการออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสมกับคนไข้” แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะในระดับที่สามารถกำหนดการออกกำลังกายให้คนไข้และประชาชนทั่วไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทราบวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป โดยการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการจะแสดงขั้นตอนและแนวปฏิบัติในการสั่งการออกกำลังกายแก่คนไข้ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะ ความถี่ และความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อคนไข้ ทั้งด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต ในเชิงปฏิบัติจะใช้การออกกำลังกายที่เป็นที่คุ้นเคยและนิยมในประเทศไทย ได้แก่ ยืดหยุ่น โยคะ กระบองป้าบุญมี แอโรบิค ยางยืด step test ห่วงฮูลาฮูป เป็นต้น โดยจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลิตบุคลากรให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคและสาขาวิชาชีพทางการแพทย์จำนวน 600 คน ภายใน 2 ปีแรก” .นพ.อรรถ กล่าว

ด้าน .นพ.กรกฎ พานิช ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยออกกำลังเพียงแค่หนึ่งในสี่และมีอัตราน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้คนหลงไปกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่ติดเทคโนโลยีมาก ทำให้เป็นนิสัยติดตัวไปเรื่อย ๆ โดยผู้ที่อยู่ในวัยทำงานออกกำลังกายเพียงแค่หนึ่งในห้าเท่านั้น และยังมีอัตราน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งที่การออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค การที่ไม่ออกกำลังกายทำให้มีโรคมากขึ้น จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วย 100 คนในรอบ 1 เดือน ทั้งในผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่า ผู้ป่วยประมาณ 70% ไม่ได้ออกกำลังกาย

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายไม่สามารถบอกตายตัวได้ว่าแต่ละคนควรจะออกกำลังกายอย่างไร การออกกำลังกายบางอย่างก็ไม่เหมาะกับทุกคน การออกกำลังกายที่ดีดูง่าย ๆ คือ ออกกำลังกายแล้วไม่บาดเจ็บ น้ำหนักลด และมีความสุข ก็ถือว่าตอบโจทย์ในขณะนั้น แต่ในอนาคตเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะเสื่อมลงตาม ก็ต้องปรับการออกกำลังกายตามด้วย ทั้งนี้ปัญหาที่พบได้บ่อยในการออกกำลังกายคือ หากแพทย์สั่งให้คนไข้ออกกำลังกาย คนไข้มักจะปฏิบัติตามที่เคยได้ยินมาคือ ให้ออกกำลังกาย 30 นาที อาทิตย์ละ 5 วัน หากเป็นผู้สูงอายุก็อาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแล้วยังรู้สึกไม่เหนื่อยพอ อยากจะเพิ่มการออกกำลังกายอีก ก็มีขั้นตอนในการเพิ่มอยู่คือ ประมาณ 20-30% ของความหนัก หรือระยะเวลาเดิม โดยจะต้องเพิ่มทีละด้านไม่ว่าจะเป็นเวลา หรือความหนัก ไม่ควรเพิ่มทุก ๆ อย่างพร้อมกัน

ผศ.ดร.รุ่งชัย ชวนไชยะกูล รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ด้วยการมีปณิธานเดียวกันในการช่วยเหลือสังคม โดยมีความร่วมมือตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว

ทั้งนี้การเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางกายนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นโรคไม่ติดเชื้อ (Non-infectious disease หรือ Non-communicable disease) ซึ่งในเมื่อไม่เกี่ยวกับเชื้อโรคจึงสามารถป้องกันได้ หรือชะลอความเสื่อมถอยได้ ถ้ารู้จักดูแลตัวเอง ประโยชน์ที่ได้รับส่วนบุคคลคือ ผู้ที่ออกกำลังกายจะมีการเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางกายช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ส่วนประโยชน์ในระดับประเทศนั้น องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา การออกกำลังกายสามารถประหยัดค่ารักษาตัวเองได้ 330 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หากคิดรวมทั้งประเทศสามารถช่วยประหยัดค่ารักษาได้ถึง 24.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถ้าคิดเป็นเงินไทยแล้วก็เหมือนกับต้องใช้งบประมาณทั้งปีในการแก้ปัญหาในส่วนนี้

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรเลยจะต้องเห็นภาพคนหนุ่มสาวทำงานเพื่อจ่ายภาษีไปเลี้ยงผู้สูงอายุซึ่งสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องนั่งรถเข็น ประกอบกับเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย นั่งกดรีโมต หรือเล่นโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในอนาคตที่ต้องเร่งแก้ไข

“โครงการ Exercise is Medicine ไม่ได้เป็นโครงการที่ตั้งรับอยู่กับที่ แต่เรารุกออกมาข้างนอกเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้วเรียนรู้ คิดค้นวิธีการที่จะช่วยเหลือกัน ในอนาคตทางเศรษฐศาสตร์มหภาคการออกกำลังกายจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้อย่างมากมายมหาศาล” ผศ.ดร.รุ่งชัย กล่าวทิ้งท้าย