4 แพทย์ดีเด่นด้านเอชไอวี รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2556
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ด้วยการริเริ่มของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครบ 100 ปี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินการมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ และเพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อมูลนิธิว่า “มูลนิธิรางวัลมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” และได้เปลี่ยนแปลงเป็น “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะมอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการเมืองเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง 2 รางวัล คือ 1. รางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ และ 2. รางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุขอันเป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จึงเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 64 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมาคือ ศ.นพ.แบรี่ เจมส์ มาร์แชล รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2544 ต่อมารับรางวัลโนเบลปี พ.ศ. 2548 และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2548 และรับรางวัลโนเบล ปี พ.ศ. 2551 และ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ พญ.มากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2549 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย คือศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา และ ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2539 ส่วน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี พ.ศ. 2552
สำหรับในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2556 ทั้งสิ้น 64 ราย จาก 28 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี พ.ศ. 2554, 2555, 2556 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
โดยบุคคลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลประจำปี พ.ศ. 2556 จำนวน 4 ท่าน คือ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.เดวิด ดี. โฮ (Prof.David D. Ho) จากสหรัฐอเมริกา และ นพ.แอนโทนี ฟอซี (Dr.Anthony Fauci) จากสหรัฐอเมริกา สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.ปีเตอร์ ปิอ็อต (Prof.Peter Piot) จากราชอาณาจักรเบลเยียม และ นพ.จิม ยอง คิม (Dr.Jim Yong Kim) จากสหรัฐอเมริกา
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2556 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2556
สาขาการแพทย์
ศ.นพ.เดวิด ดี. โฮ (Prof.David D. Ho) ภาพที่ 2
ผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยโรคเอดส์เอรอนไดอะมอน นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
ศ.นพ.เดวิด ดี. โฮ เป็นบุคคลแรกที่ผลักดันให้ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัวในการรักษาผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกว่า ฮาร์ท (HAART : Highly Active Antiretroviral Therapy) โดยอาศัยผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีมีการแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการ ทำให้เข้าใจกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ นำไปสู่แนวคิดการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัวตั้งแต่ระยะแรกที่ตรวจพบ เพื่อควบคุมไวรัสไม่ให้แบ่งตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.แอนโทนี ฟอซี (Dr.Anthony Fauci) ภาพที่ 3
ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา
นพ.แอนโทนี ฟอซี มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นในการเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยแสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีมีการแบ่งตัวในต่อมน้ำเหลืองของผู้ได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้ผู้ได้รับเชื้อไวรัสจะไม่แสดงอาการ แต่พบว่าจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีในต่อมน้ำเหลืองมีระดับสูงไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ส่งผลให้ผู้ได้รับเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยจากการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งนำไปสู่แนวคิดในการให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัว (HAART) ตั้งแต่ระยะแรกเพื่อควบคุมไวรัสไม่ให้แบ่งตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินผลได้จากการตรวจวัดจำนวนเชื้อไวรัส (HIV viral load) และจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4
แรงผลักดันและแนวคิดของ ศ.นพ.เดวิด ดี. โฮ และ นพ.แอนโทนี ฟอซี เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นมาตรฐานการรักษาผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน เปลี่ยนสภาพจากโรครอวันตายมาเป็นโรคเรื้อรัง ช่วยชีวิตผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีได้หลายสิบล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2556
สาขาการสาธารณสุข
ศ.นพ.ปีเตอร์ ปิอ็อต (Prof.Peter Piot) ภาพที่ 4
ผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร
อดีตผู้อำนวยการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ราชอาณาจักรเบลเยียม
ศ.นพ.ปีเตอร์ ปิอ็อต เริ่มมีบทบาทในการศึกษาระบาดวิทยาของโรคเอดส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งช่วยงานในโครงการซีด้า (Project SIDA) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยโรคเอดส์ โครงการแรกในแอฟริกา ต่อมาได้ร่วมงานกับองค์การอนามัยโลกและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติคนแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2537-2551 ได้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักว่าโรคเอดส์จะแพร่กระจายและเป็นภัยร้ายแรงในอนาคต ผลักดันให้นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ ผู้นำทางศาสนา ยอมรับเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ รณรงค์การป้องกันและกดดันให้ปรับลดราคายาต้านไวรัส ทำให้มีการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีในประเทศยากจนได้มากขึ้น
นพ.จิม ยอง คิม (Dr.Jim Yong Kim) ภาพที่ 5
อดีตผู้อำนวยการแผนกเอชไอวี/เอดส์ องค์การอนามัยโลก สหรัฐอเมริกา
นพ.จิม ยอง คิม ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกเอชไอวี/เอดส์ องค์การอนามัยโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 เป็นผู้นำในการผลักดันให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างถ้วนหน้า (universal access to anti-retrovirals) โดยการผลักดัน “แผนริเริ่ม 3 ใน 5” คือผลักดันให้ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัว (HAART) จำนวน 3 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งสามารถบรรลุผลได้ในปี ค.ศ. 2007 โดยประสานกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ รัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ทำการระดมทุน ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรและเทคนิคในการตรวจรักษา รวมทั้งการปรับลดราคายาและการยอมรับยาที่ผลิตในบางประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการรักษา ป้องกัน และการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้มากยิ่งขึ้น
ผลการดำเนินงานของ ศ.นพ.ปีเตอร์ ปิอ็อต ขณะเป็นผู้อำนวยการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ และ นพ.จิม ยอง คิม ขณะเป็นผู้อำนวยการแผนกเอชไอวี/เอดส์ องค์การอนามัยโลก ทำให้การรักษาและการป้องกันโรคเอดส์มีความสำคัญและกระจายแพร่หลายกว้างขวางทั่วโลก ช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้หลายล้านคน เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลก