WHO ชี้พิการทางการได้ยิน ป้องกันได้ ทั่วโลกร่วมรณรงค์ ‘Hearing For All’
ปัญหาหูหนวก หูตึง โรคหู เสียงรบกวนในหู เวียนหัวบ้านหมุน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในทางการแพทย์ อีกทั้งในปัจจุบันการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถืออยู่เกือบตลอดเวลาอาจทำให้เกิดหูอื้อ หูตึง หูมีเสียงรบกวนได้ นอกจากนี้เสียงดังจากสถานบันเทิงต่าง ๆ ยังเพิ่มมลภาวะทางเสียง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นกับหูได้ ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันได้หากแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าใจปัญหา โดยองค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่า ทั่วโลกมีคนมีปัญหาทางการได้ยินอยู่ถึง 450 ล้านคน และร้อยละ 50 สามารถป้องกันได้
ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตรา ประสานสุข ที่ปรึกษาอาวุโส องค์การอนามัยโลก และประธานองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ทารกแรกเกิดจำนวน 3 ใน 1,000 ราย มีความพิการทางการได้ยิน หรืออาการหูตึงมาแต่กำเนิด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวม และโดยเฉพาะการพูด สำหรับการพิการทางการได้ยินแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคในมารดาระหว่างตั้งครรภ์ อาทิ โรคหัดเยอรมัน โรคครรภ์เป็นพิษ การคลอดผิดปกติหรือล่าช้าจนเด็กขาดออกซิเจน ตัวเหลือง ส่งผลให้มีโอกาสหูตึงถึงร้อยละ 3 รวมถึงคลอดก่อนกำหนดและต้องเข้าตู้อบ อาจส่งผลให้หูชั้นในผิดปกติหรือสมองพิการ และสูญเสียการได้ยิน
ในปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และหากว่าไม่ผ่าน สงสัยว่าหูหนวกหรือหูตึงควรตรวจยืนยันภายในเวลา 6 เดือนแรก จะทำให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัดโดยใช้เครื่องช่วยการได้ยิน รวมทั้งการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมและสอนพูดได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้อาการหูตึง หูหนวก เป็นเหตุให้ไม่สามารถพูดได้หรือเป็นใบ้ในที่สุด ซึ่งถ้าหากพบแพทย์ช้า การฟื้นฟูจะเป็นไปได้ยาก เพราะพัฒนาการทางสมองส่วนการได้ยินจะสูญเสียไปภายใน 2 ขวบ ดังนั้น การฟื้นฟูอาการหูตึงในเด็กแรกเกิดควรทำตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ เนื่องจากจะสามารถเสริมทักษะต่าง ๆ ได้ง่าย
ในส่วนของการเสียการได้ยินในผู้ใหญ่ นอกเหนือจากหูตึงตามอายุขัยแล้ว การใช้เสียงดังอย่างฟุ่มเฟือยหรืออยู่ในสถานที่ที่เสียงดังเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น คุยโทรศัพท์ ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวสถานบันเทิง อาจทำให้มีอาการหูตึง มีเสียงรบกวนในหูได้ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ยังมีโอกาสเกิดเสียการได้ยินจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ไขมันสูง ตลอดจนยาบางอย่างที่ทำลายประสาทรับเสียง เสียการได้ยิน ตลอดจนโรคสมอง และเนื้องอกในสมอง ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะการเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน ต้องรักษาด่วน ซึ่งแพทย์จะให้ความรู้ในการตรวจวินิจฉัยแยกโรค ตลอดจนการรักษาทางยา และการใช้เครื่องช่วยฟัง แล้วแต่ลักษณะการสูญเสีย
อาการเวียนหัวบ้านหมุน ผู้ป่วยและแพทย์ทั่วไปคิดอยู่เพียง 2 กรณีคือ น้ำในหูไม่เท่ากัน และหินปูนในหูหลุดเคลื่อน ทั้ง ๆ ที่ยังมีโรคอื่นอีกมากมาย ตั้งแต่โรคหวัดไปหู โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคหูชั้นใน หูชั้นในติดเชื้อ เช่น หูน้ำหนวก โรคทางกาย เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง การตรวจวินิจฉัยแยกโรคสามารถแยกตำแหน่งพยาธิสภาพได้ว่า เสีย ณ ที่ใด และควรให้การรักษาอย่างไร ตรวจวินิจฉัย ระบบทรงตัว ระบบสมอง และการให้การรักษาทางยาในโรคต่าง ๆ ที่มิใช่การให้ยาระงับอาการเวียนศีรษะเท่านั้น
การมีเสียงรบกวนในหู อาจเกิดจากหูตึง โรคหู หรือเกิดจากโรคทางสมอง หลายคนทรมาน นอนไม่หลับอยากฆ่าตัวตาย ไปพบแพทย์ก็ไม่ได้รับความกระจ่างนอกจากบอกว่า ไม่มีวันหายและไม่มียารักษา ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้ตรวจอะไรเลย และบางกรณีอาจเป็นเนื้องอกในสมอง ดังนั้น จึงควรช่วยกันลดเสียง และพยายามใช้เสียงเท่าที่จำเป็นในทุกสภาวการณ์ ทุกระดับความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเสียงดัง ไม่รบกวนกาย ใจ สมองและหูได้
ขณะนี้ทั่วโลกได้มีการรณรงค์เพื่อการได้ยินดีถ้วนหน้า ‘Hearing For All’ โดยสมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สหพันธ์โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งโลก สมาคมโสตสัมผัสนานาชาติ และองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติ ‘Hearing International' ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล และมีเครือข่ายระดับนานาชาติไปทั่วโลก โดยล่าสุดศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ร่วมกับองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติ 'Hearing International' และศูนย์โสตประสาทการได้ยินกรุงเทพ ศูนย์ประสานงานขององค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ โดยมีวิทยากรระดับนานาชาติจาก สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาเซียน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ