ความปลอดภัยและประสิทธิผล Sitagliptin ในผู้ป่วยเบาหวาน
BMJ 2013;346:f2267.
บทความเรื่อง Comparative Safety and Effectiveness of Sitagliptin in Patients with Type 2 Diabetes: Retrospective Population Based Cohort Study รายงานผลจากการวิจัยเพื่อศึกษาว่าการใช้ยา sitagliptin ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเพิ่งได้รับการรักษาสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงด้านผลลัพธ์ทางคลินิกหรือไม่
นักวิจัยรวบรวมข้อมูลจากประวัติผู้ป่วยเบิกประกันสุขภาพในสหรัฐและฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการ ครอบคลุมผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยาต้านเบาหวานแบบยารับประทานระหว่างปี ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2009 โดยติดตามจนถึงเสียชีวิต, สิ้นสุดประกันสุขภาพ หรือวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010
มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ composite endpoint ของการนอนโรงพยาบาลจากทุกสาเหตุ และการตายจากทุกสาเหตุประเมินด้วย Cox proportional hazards regression ที่แปรตามเวลาหลังปรับตามปัจจัยด้านประชากร, ข้อมูลทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการ, ข้อมูลเบิกคืนค่ายา, การใช้บริการสถานพยาบาล และ propensity score ที่แปรตามเวลา
กลุ่มผู้ป่วยประกอบด้วยผู้ที่เพิ่งได้รับยาต้านเบาหวานชนิดยารับประทาน 72,738 ราย (8,032 ราย [11%] ใช้ยา sitagliptin; 7,293 ราย [91%] ใช้ร่วมกับยาตัวอื่น) และติดตามรวม 182,409 patient years อายุเฉลี่ยเท่ากับ 52 (SD 9) ปี โดย 54% (39,573 ราย) เป็นผู้ชาย 11% (8,111 ราย) เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ 9% (6,378 ราย) มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขณะที่ได้รับยาต้านเบาหวานครั้งแรก ผู้ป่วยที่เกิด endpoint มีจำนวน 14,125 ราย (20%) โดยผู้ที่ได้ sitagliptin มีอัตราการนอนโรงพยาบาลหรือการตายจากทุกสาเหตุใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ sitagliptin (adjusted hazard ratio เท่ากับ 0.98, 95% confidence interval 0.91-1.06) รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (adjusted hazard ratio เท่ากับ 1.10, 0.94-1.28) และผู้ที่มี estimated glomerular filtration rate ต่ำกว่า 60 มิลลิลิตร/นาที (1.11, 0.88-1.41)
การใช้ยา sitagliptin ไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการนอนโรงพยาบาล หรือการตายจากทุกสาเหตุเมื่อเทียบกับยาลดน้ำตาลตัวอื่นในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเพิ่งได้รับยา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้ sitagliptin ในกลุ่มนี้ได้รับยาในลักษณะ add-on treatment ตามแนวทางเวชปฏิบัติ