นวัตกรรมจัดท่าผ่าตัด ‘ประกอบ-วรา Stand’

นวัตกรรมจัดท่าผ่าตัด ประกอบ-วรา Stand’

          ในการผ่าตัดทุกท่า ยกเว้นท่านั่งจะมีการใช้ Mayo stand ที่ไม่ได้ยึดติดกับขอบเตียง เพื่อวางอุปกรณ์ในการผ่าตัด และป้องกันท่อช่วยหายใจไม่ให้หลุดหรือหัก พับ งอ เมื่อผ้าปูปราศจากเชื้อทับบนตัวและศีรษะของผู้ป่วย แต่ในการทำผ่าตัดผู้ป่วยท่านั่งใช้เสาน้ำเกลือ 2 เสา และแท่งเหล็กมากั้นเพื่อปูผ้าปราศจากเชื้อ ถ้าใช้ Mayo stand ที่ไม่ได้ยึดติดกับเตียงเมื่อมีการปรับเปลี่ยนระดับของเตียงพยาบาลช่วยเหลือรอบนอกจะต้องทำการปรับระดับของ Mayo stand ตามเตียงผ่าตัดทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกดทับผู้ป่วย และหากบริเวณผ่าตัดคลุมผ้าปราศจากเชื้อแล้วจะทำให้ปรับ Mayo stand ทำได้ยากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ นายประกอบ บุญมาดี พยาบาลวิชาชีพ (พว.) และ นางสาววราภรณ์ เก่งวิชา พยาบาลวิชาชีพ (พว.) หน่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ งานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกันประดิษฐ์ ‘ประกอบ-วรา Stand’ ขึ้น ซึ่งเป็น Mayo ที่ใช้ยึดติดกับขอบเตียง สามารถปรับขนาดความกว้างของขา Mayo ตามขนาดของเตียงผ่าตัดได้ทุกขนาด เพิ่มความยาวของขา Mayo ให้สามารถใช้กับการผ่าตัดท่านั่งได้ และเพิ่มความพึงพอใจให้แก่บุคลากรในการใช้ประกอบ-วรา Stand ได้

ระเบียบวิธีวิจัย

1. วางแผน ออกแบบรูปแบบของประกอบ-วรา Stand ร่วมกับศัลยแพทย์ผู้ใช้งาน

2. วัดขนาดความกว้างของเตียงผ่าตัดในหน่วยงาน เพื่อนำมาใช้คาดคะเนความกว้างของขาประกอบ-วรา Stand

3. วัคความยาวของขา Mayo เดิม เพื่อคาดคะเนความยาวของประกอบ-วรา Stand ที่เหมาะสม

4. นำรูปแบบของประกอบ-วรา Stand และขนาดที่ต้องการไปดำเนินการจัดทำ

ผลการศึกษา

1. อุบัติการณ์ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการกดทับของ Mayo stand ลดลงจาก 2 ครั้ง เหลือ 0 ครั้ง

2. อัตราความพึงพอใจของศัลยแพทย์ วิสัญญี พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลในการใช้ประกอบ-วรา Stand เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 90 เป็นร้อยละ 100

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ

ได้นำประกอบ-วรา Stand มาใช้ในการจัดท่าผ่าตัด ผลลัพธ์คือ สามารถใช้กับการจัดท่าผ่าตัดได้ทุกท่ารวมถึงท่านั่งด้วย เนื่องจากสามารถปรับความกว้างของขา และมีความยาวของขามากขึ้น ศัลยแพทย์และบุคลากรมีความพึงพอใจในการใช้ประกอบ-วรา Stand

ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมประกอบ-วรา Stand ที่สอดคล้อง เหมาะสมกับผลลัพธ์ของนวัตกรรม และมีความครอบคลุมคือ วัดผลตั้งแต่นวัตกรรมต้องสามารถใช้ได้กับขนาดเตียงทุกขนาด สามารถใช้ได้กับการผ่าตัดท่านั่ง สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน สามารถแก้ปัญหาจากการทำงานผ่าตัดในห้องผ่าตัด และตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้นวัตกรรมได้ เนื่องจากทีมวิจัยมีกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือสังเกต วิเคราะห์ วางแผน พัฒนา และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด ทำให้ผลงาน ‘ประกอบ-วรา Stand’ ได้รับ รางวัลผลงาน R2R ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2556 ประเภทนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

            นายประกอบ กล่าวว่า บทเรียนที่ได้รับจากงานวิจัยครั้งนี้คือ ทำให้ได้เรียนรู้และใช้กระบวนการคิดตั้งแต่การสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน พบว่า fix mayo stand แบบเดิมไม่สามารถใช้กับเตียงผ่าตัดได้ทุกขนาด และไม่สามารถใช้กับการผ่าตัดท่านั่งได้ จึงเป็นที่มาของการทำประกอบ-วรา Stand ซึ่งสามารถปรับขนาดความกว้างของขา Mayo ตามขนาดของเตียงได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความยาวของขา Mayo ให้สามารถใช้กับการผ่าตัดท่านั่งได้

            “ปัจจัยแห่งความสำเร็จในครั้งนี้คือ การรู้จักสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานประจำวัน และนำเอาปัญหาเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ตอนออกแบบสิ่งประดิษฐ์ จนถึงการนำเอาสิ่งประดิษฐ์มาทดลองใช้งานจริง โดยได้รับความร่วมมือจากทีมบุคลากรทุกท่านเป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารหน่วยงาน อาจารย์แพทย์ และหัวหน้าหน่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ในด้านการให้คำแนะนำ ตั้งแต่การเริ่มคิด ออกแบบ ประดิษฐ์นวัตกรรม จนถึงขั้นตอนการใช้งานจริง และติดต่อประสานงานในด้านงบประมาณ” นายประกอบ กล่าวทิ้งท้าย