การบริจาคอวัยวะ
เนื่องด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ร่วมกับ Transplant Procurement Management (TPM) และ Institute for Lifelong Learning มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายมากที่สุดในโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข จะจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติ เรื่อง การประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ ครั้งที่ 2 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผมจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะมาให้ท่านผู้อ่านรับทราบ
ปัจจุบันการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต เสื่อมสภาพให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ปัญหาสำคัญของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ การขาดแคลนอวัยวะที่นำไปปลูกถ่าย โดยในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มีผู้บริจาคอวัยวะ 136 ราย สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยได้จำนวน 334 ราย (ผู้บริจาค 1 รายสามารถบริจาคได้หลายอวัยวะ ในขณะที่มีผู้รออวัยวะทั้งหมด 3,287 ราย)
การที่จะให้ได้อวัยวะที่ดีและมีคุณภาพสำหรับปลูกถ่ายนั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเสาะหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการบริจาคอวัยวะ การวินิจฉัยสมองตาย การขอบริจาคอวัยวะ การดูแลรักษาอวัยวะให้มีสภาพที่เหมาะสมที่สุดก่อนนำไปปลูกถ่าย ตลอดจนการประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความร่วมมือในกระบวนการบริจาคอวัยวะ ซึ่งบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญดังกล่าว ได้แก่ ผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้จัดโครงการฝึกอบรมการประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถเจรจาขอบริจาคอวัยวะจากญาติ และประสานงานจนนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้ นับถึงปัจจุบันจัดการอบรมมาแล้ว 18 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 881 คน จาก 126 หน่วยงานจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ปัจจุบันผู้ผ่านการอบรมบางส่วนยังคงปฏิบัติงานด้านการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ
ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายเป็นปัญหาสากลที่เกิดกับทุกประเทศที่มีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ สำหรับประเทศไทยอวัยวะที่ได้รับบริจาคมีจำนวนน้อยมากจนไม่พอเพียงสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่มีอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว เช่น ไตวาย ตับวาย ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่รอดมีผลที่ดีมาก เป็นที่ยอมรับ นิยม และดำเนินการกันทั่วโลก ปัญหาของประเทศไทยคือ ประชาชนยังทราบข้อมูลและมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องนี้น้อยมาก โดยปกติแพทย์จะนำอวัยวะจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วมาให้แก่ผู้ป่วยที่รอคอยอวัยวะนี้ ผู้ที่เสียชีวิตในที่นี้หมายถึงผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะ “สมองตาย” ตามคำนิยามของแพทย์ ผู้ที่ “สมองตาย” แล้วคือ ผู้ที่เสียชีวิตแล้วนั่นเอง ผู้ที่ “สมองตาย” แล้วอย่างแท้จริง (ต้องตรวจโดยแพทย์ 3 ท่าน และมีขั้นตอนตามเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ในโลกวางไว้) จะไม่มีโอกาสกลับคืนมาสู่สภาพมีชีวิตได้อีก ซึ่งหัวใจและปอดยังทำงานอยู่เพราะมีเครื่องช่วย ถ้าหยุดเครื่องช่วยเมื่อใดหัวใจ ปอด ก็จะหยุดทำงานนั่นเอง
อุปสรรคการได้รับบริจาคอวัยวะมาจากการปฏิเสธยินยอมของญาติ เพราะญาติทำใจไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าสมองตายหรือเสียชีวิตจริง มีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบ กลัวผู้เสียชีวิตเจ็บ แผลไม่สวย กลัวผิดใจกับผู้ตาย เนื่องจากไม่เคยสั่งหรือบอกไว้ บางครั้งญาติห่าง ๆ หรือเพื่อนบ้านมาช่วยคัดค้านการปฏิเสธการบริจาคอวัยวะ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ บุคลากรทางการแพทย์ บางส่วนยังไม่ยอมรับเรื่องการวินิจฉัยการเสียชีวิตด้วยสมองตาย ไม่มั่นใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคอวัยวะ ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับระบบการรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย
เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายชัดเจนให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการรับบริจาคอวัยวะอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง มีการพัฒนาบุคลากร ระบบงาน งบประมาณ และประเมินผลงานเป็นระยะ ๆ ทำให้ในช่วงปีหลังนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับการบริจาคอวัยวะจากโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ต่อกระบวนการบริจาคอวัยวะ ผลดีของการปลูกถ่ายอวัยวะ ยังจำเป็นทั้งกับสาธารณชน และบุคลากรทางการแพทย์