กล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือดในคนอ้วนและน้ำหนักเกิน
JAMA Intern Med. Published online November 11, 2013.
บทความวิจัยเรื่อง Myocardial Infarction and Ischemic Heart Disease in Overweight and Obesity with and without Metabolic Syndrome รายงานว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือด แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าจำเป็นต้องมี metabolic syndrome ร่วมด้วยหรือไม่ นักวิจัยจึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนทั้งที่มีและไม่มี metabolic syndrome กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือดจากผู้เข้าร่วมวิจัย 71,527 รายในงานวิจัย Copenhagen General Population Study โดยจำแนกตามดัชนีมวลกายเป็นกลุ่มน้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน หรืออ้วน และการพบหรือไม่พบ metabolic syndrome และกำหนดให้ hazard ratios สำหรับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือดตามระดับดัชนีมวลกายร่วมกับการพบหรือไม่พบ metabolic syndrome เป็นผลลัพธ์หลัก
ระหว่างมัธยฐานการติดตาม 3.6 ปี พบการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 634 ราย และหัวใจขาดเลือด 1,781 ราย สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตายพบว่า multivariable adjusted hazard ratios เทียบกับกลุ่มน้ำหนักตัวปกติที่ไม่เป็น metabolic syndrome เท่ากับ 1.26 (95% CI, 1.00-1.61) ในกลุ่มน้ำหนักเกิน และ 1.88 (95% CI, 1.34-2.63) ในกลุ่มโรคอ้วนที่ไม่เป็น metabolic syndrome และ1.39 (95% CI, 0.96-2.02) ในกลุ่มน้ำหนักปกติ, 1.70 (95% CI, 1.35-2.15) ในกลุ่มน้ำหนักเกิน และ 2.33 (95% CI, 1.81-3.00) ในกลุ่มโรคอ้วนที่เป็นmetabolic syndrome ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์สำหรับโรคหัวใจขาดเลือด น้ำหนักตัวปกติเทียบกับน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และการเป็นหรือไม่เป็น metabolic syndrome ไม่มีปฏิกิริยาต่อความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจขาดเลือด (p = 0.90 and p = 0.44) และในผู้ที่เป็นและไม่เป็น metabolic syndrome พบว่าอุบัติการณ์สะสมของกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือดสูงขึ้นจากกลุ่มน้ำหนักปกติ กลุ่มน้ำหนักเกิน ถึงกลุ่มโรคอ้วน (log-rank trend p = 0.006 to p < 0.001) และแม้ว่า multivariable adjusted hazard ratio สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตายในผู้ที่เป็น metabolic syndrome เทียบกับผู้ที่ไม่เป็น metabolic syndrome เท่ากับ 1.54 (95% CI, 1.32-1.81) ในทุกกลุ่มดัชนีมวลกาย แต่การเพิ่ม metabolic syndrome ไปใน multivariable model ซึ่งรวมดัชนีมวลกายและลักษณะทางคลินิกอื่นก็ช่วยให้ Harell C-statistic ดีขึ้นเล็กน้อยสำหรับความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย (comparison p = 0.03) แต่ไม่รวมถึงหัวใจขาดเลือด (p = 0.41)
ข้อมูลจากการศึกษานี้สนับสนุนว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายและหัวใจขาดเลือดโดยไม่เป็นผลจากการพบหรือไม่พบ metabolic syndrome และ metabolic syndrome ไม่มีน้ำหนักมากกว่าดัชนีมวลกายสำหรับการระบุผู้ที่มีความเสี่ยง