การออกกำลังกายและความเสี่ยงลำไส้อักเสบ

การออกกำลังกายและความเสี่ยงลำไส้อักเสบ

BMJ 2013;347:f6633.

            บทความเรื่อง Physical Activity and Risk of Inflammatory Bowel Disease: Prospective Study From The Nurses’ Health Study Cohorts รายงานข้อมูลจากการศึกษาแบบ prospective cohort study เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายและความเสี่ยงต่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น โดยศึกษาจากผู้หญิง 194,711 รายที่เข้าร่วมในงานวิจัย Nurses’ Health Study และ Nurses’ Health Study II ซึ่งรายงานข้อมูลการออกกำลังกายและปัจจัยเสี่ยงอื่นทุกสองถึงสี่ปีนับจากปี ค.ศ. 1984 ในงานวิจัย Nurses’ Health Study และนับจากปี ค.ศ. 1989 ในงานวิจัย Nurses’ Health Study II โดยติดตามถึงปี ค.ศ. 2010 และมาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น

            ระหว่างการติดตาม 3,421,972 person years มีรายงานการเกิดโรคโครห์น 284 ราย และลำไส้ใหญ่อักเสบ 363 ราย ความเสี่ยงโรคโครห์นมีความสัมพันธ์แบบกลับกับการออกกำลังกาย (p for trend 0.02) ตามที่พบว่าผู้หญิงในกลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุดมี multivariate adjusted hazard ratio ต่อโรคโครห์นเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยที่สุดเท่ากับ 0.64 (95% confidence interval 0.44-0.94) ผู้หญิงที่มี metabolic equivalent task (MET) ของการออกกำลังกายอย่างน้อย 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงลดลง 44% (hazard ratio 0.56, 95% confidence interval 0.37-0.84) ต่อการเกิดโรคโครห์นเทียบกับผู้หญิงที่มี MET น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การออกกำลังกายไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงลำไส้ใหญ่อักเสบ (p for trend 0.46) ความเสี่ยงสัมบูรณ์ของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์นในผู้หญิงกลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุดเท่ากับ 8 และ 6 เหตุการณ์ต่อ 100,000 person years เทียบกับ 11 และ 16 เหตุการณ์ต่อ 100,000 person years ในกลุ่มที่ออกกำลังกายน้อยที่สุด      ขณะเดียวกันพบว่า อายุ การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย และกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายและความเสี่ยงต่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบหรือโรคโครห์น (all p for interaction > 0.35)

            ข้อมูลจากการศึกษาในผู้หญิงกลุ่มใหญ่ทั้งสองกลุ่มชี้ว่า การออกกำลังกายมีความสัมพันธ์แบบกลับต่อความเสี่ยงโรคโครห์น แต่ไม่รวมถึงโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ