ความเสี่ยงหลอดเลือดดำอุดตันในหญิงตั้งครรภ์
BMJ 2013;347:f6099.
บทความเรื่อง Risk of First Venous Thromboembolism in Pregnant Women in Hospital: Population Based Cohort Study from England รายงานผลจากการศึกษาแบบ cohort study เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการป้องกันหลอดเลือดดำอุดตันในระหว่างและภายหลังการรับเข้าโรงพยาบาลในหญิงตั้งครรภ์ โดยใช้ข้อมูลจากบริการปฐมภูมิ (Clinical Practice Research Datalink) และทุติยภูมิ (Hospital Episode Statistics) ของอังกฤษ ครอบคลุมผู้หญิง 206,785 ราย ซึ่งมีอายุ 15-44 ปี และตั้งครรภ์หนึ่งครั้งหรือมากกว่าระหว่างปี ค.ศ. 1997-2010
มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดดำอุดตันครั้งแรกในหญิงตั้งครรภ์ที่รับเข้าโรงพยาบาลหนึ่งวันหรือมากกว่าจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการคลอดหรือหลอดเลือดดำอุดตัน การประเมินความเสี่ยงคำนวณจากอัตราสัมบูรณ์ของหลอดเลือดดำอุดตัน และเปรียบเทียบอัตราดังกล่าวกับอัตราที่พบในช่วงการติดตามด้วย Poisson regression model เพื่อหา incidence rate ratios
การรับเข้าโรงพยาบาลในหญิงตั้งครรภ์สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อหลอดเลือดดำอุดตัน (absolute rate 1,752/100,000 person years; incidence rate ratio 17.5, 95% confidence interval 7.69-40.0) เทียบกับช่วงเวลาที่อยู่นอกโรงพยาบาล และอัตราการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันยังสูงในช่วง 28 วันหลังออกจากโรงพยาบาล (absolute rate 676; 6.27, 3.74-10.5) อัตราในระหว่างและภายหลังการรับเข้าโรงพยาบาลรวมกันมีระดับสูงสุดในช่วงตั้งครรภ์สามเดือนปลาย (961; 5.57, 3.32-9.34) และในผู้หญิงที่มีอายุ ≥ 35 ปี (1,756; 21.7, 9.62-49.0) นอกจากนี้อัตราสัมบูรณ์ในระหว่างและภายหลังการรับเข้าโรงพยาบาลมีระดับสูงสุดในผู้หญิงที่นอนโรงพยาบาล 3 วันหรือมากกว่า (1,511; 12.2, 6.65-22.7) และยังพบด้วยว่าความเสี่ยงหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มขึ้น 4 เท่า (558; 4.05, 2.23-7.38) ในผู้ที่นอนโรงพยาบาลน้อยกว่า 3 วัน
ความเสี่ยงโดยรวมของการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันครั้งแรกในหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นระหว่างการนอนโรงพยาบาลซึ่งไม่มีสาเหตุมาจากการคลอด และยังคงสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 28 วันหลังออกจากโรงพยาบาล จึงควรที่จะพิจารณาการรักษาเพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดอย่างถี่ถ้วนในช่วงดังกล่าว