ผ่าตัดซ่อมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้องและการรักษาด้วยยาในผู้ป่วย GORD

ผ่าตัดซ่อมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้องและการรักษาด้วยยาในผู้ป่วย GORD
BMJ 2013;346:f1908

บทความเรื่อง Minimal Access Surgery Compared with Medical Management for Gastro-Oesophageal Reflux Disease: Five Year Follow-Up of a Randomised Controlled Trial (REFLUX) รายงานข้อมูลการติดตามจากการศึกษาแบบ multicentre, pragmatic randomised trial (กับ parallel non-randomised preference groups) เพื่อศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกระยะยาวของการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้อง และการรักษาด้วยยาสำหรับโรคกรดไหลย้อน (GORD) เรื้อรัง

นักวิจัยรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาล 21 แห่งในสหราชอาณาจักร ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามประจำปีจากผู้เข้าร่วมวิจัย 810 ราย ซึ่งเป็น GORD มาแล้วนานกว่า 12 เดือนขณะที่เข้าร่วมการศึกษา

            การแทรกแซงทำโดยให้ศัลยแพทย์เป็นผู้เลือกวิธีผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด และแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ทบทวนและปรับการรักษาด้วยยา และการดูแลเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ผู้รับผิดชอบซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการปฐมภูมิ

            มาตรวัดผลลัพธ์ปฐมภูมิ ได้แก่ รายงานคะแนนคุณภาพชีวิตจากแบบสอบถาม REFLUX และมาตรวัดอื่นประกอบด้วยสถานะสุขภาพ (จากแบบสอบถาม SF-36 และ EuroQol EQ-5D) การใช้ยาป้องกันกรดไหลย้อน และภาวะแทรกซ้อน

            ที่ 5 ปีพบว่า 63% (112/178) ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัด และ 13% (24/179) ของผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาได้รับการซ่อมแซมหูรูด (รวมถึง 85% [222/261] และ 3% [6/192] ของผู้ที่เลือกการผ่าตัดและผู้ที่เลือกการรักษาด้วยยา) จากผู้ตอบแบบสอบถามที่ 5 ปีพบว่า 44% (56/127) ของกลุ่มผ่าตัดได้รับยาป้องกันกรดไหลย้อนเทียบกับ 82% (98/119) ของกลุ่มที่ได้ยา ผลต่างด้านคะแนนจากแบบสอบถาม REFLUX ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผ่าตัด (mean difference 8.5 [95% CI 3.9-13.1], p < 0.001 ที่ 5 ปี) เช่นเดียวกับคะแนน SF-36 และ EQ-5D ซึ่งดีกว่าในกลุ่มผ่าตัดแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ 5 ปี ภายหลังการซ่อมแซมหูรูดพบว่า 3% (12/364) ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากภาวะแทรกซ้อน และ 4% (16) ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากกรดไหลย้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายรัด อัตราการเกิดปัญหากลืนลำบาก ท้องอืด และไม่สามารถอาเจียนในระยะยาวพบใกล้เคียงกันในทั้งสองกลุ่ม   

            หลังจาก 5 ปีพบว่า การซ่อมแซมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้องยังคงบรรเทาอาการของ GORD ได้ดีกว่าการรักษาด้วยยา ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดพบได้น้อยและมักพบโดยเร็วหลังการผ่าตัด และผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดซ้ำมีจำนวนน้อย นอกจากนี้ไม่พบหลักฐานอาการไม่พึงประสงค์ในระยะยาวอันเนื่องมาจากการผ่าตัด