หญิงอายุ 73 ปี เดินอยู่ในห้างแล้วตาย: รายงานผู้ตาย 1 ราย
A 73-year-old Female With Sudden Unexpected Death In Department Store: A Case Report
นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การตายที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ป้ายรถเมล์ สนามบิน ตลาดสด ฯลฯ ไม่ว่าผู้ตายจะมีอายุเท่าใดก็ตาม หากแพทย์ท่านใดต้องมีส่วนในการชันสูตรพลิกศพ1 แล้ว แพทย์ท่านนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการชันสูตรพลิกศพเป็นอย่างยิ่ง และหากการชันสูตรพลิกศพแล้วไม่ว่าจะพบหรือไม่พบสาเหตุแห่งการตายหรือไม่ก็ตาม แพทย์ไม่ควรที่จะ “ประมาท” ให้เอกสารระบุสาเหตุการตาย (หนังสือรับรองการตาย ทร.4/1 หรือใบรับแจ้งการตาย ทร.4 ตอนหน้า) โดยไม่นำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อตามมาตรา 1511 ทั้งนี้เพราะการที่แพทย์ตรวจศพและสภาพแวดล้อมศพในระยะอันสั้น กระชั้นชิด จะถูกจำกัดด้วยเวลาและความพิถีพิถันได้ง่าย แพทย์อาจพลาดพลั้งในการตรวจบางสิ่งบางประการที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้ตายได้ ดังนั้น กรณีดังกล่าวนี้แพทย์จึงจำเป็นต้องนำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ ณ สถานพยาบาลของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความกระจ่างในสาเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย1
เป็นความเสี่ยงของแพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน ซึ่งแพทย์ตามกฎหมายมีฐานะเป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย” เพราะเมื่อไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการตายได้ในขณะที่ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วย่อมต้องส่งศพเพื่อการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152) หากไม่ดำเนินการเท่ากับเป็นความเสี่ยงทางด้านจริยธรรม และอาญา เป็นอย่างมาก
อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)
ประวัติ: ผู้ตายอายุ 73 ปี เดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าแล้วล้มลงโดยปราศจากเหตุรุนแรงที่เกิดกับผู้ตาย ผู้ตายถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้เคียงห้างสรรพสินค้านั้น ได้ทำการกู้ชีพแต่ไม่สำเร็จ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
การชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ศพอยู่: เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่ศพอยู่ (พยาบาล) ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนแห่งสถานพยาบาลตั้งอยู่ได้รับทราบ และพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่กับแพทย์ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายได้มาร่วมทำการชันสูตรพลิกศพแล้วส่งศพมายังโรงพยาบาลของรัฐบาลเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไปตามใบนำส่งศพเพื่อรับการตรวจ (ภาพที่ 1)
การตรวจศพ: (ดำเนินการในวันรุ่งขึ้นของการชันสูตรพลิกศพ)
สภาพศพภายนอก: (ภาพที่ 2)
- ศพเป็นหญิง อายุ 73 ปี รูปร่างท้วม ผมสีดำ (มีสภาพการย้อมผม) ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ตัวยาวประมาณ 158 เซนติเมตร สวมเสื้อแขนสั้นสีเข้มลายดำ รูปวงรี และหลายเหลี่ยม สวมกางเกงขาสั้นสีเข้ม และชุดชั้นในสีเนื้อ
- ศพมีผิวสีอย่างชาวเอเชีย ใบหน้าคล้ำเล็กน้อย ไม่พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา แขน ขา ลำตัว
- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน
- รอบคอไม่พบบาดแผลรุนแรงหรือรอยกดรัด
- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียด ไม่มีลักษณะหักหรืองอ
- บริเวณหน้าท้องน้อยพบแผลเป็นยาวประมาณ 15 เซนติเมตรจากการผ่าตัดเก่า
- ไม่พบของเหลวหรือคราบผิดปกติที่บริเวณปาก จมูก หู ตา ช่องคลอด และทวารหนัก
สภาพศพภายใน:
- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะปกติ
- กะโหลกศีรษะ รวมถึงฐานกะโหลกศีรษะปกติ (ภาพที่ 3)
- เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกบริเวณสมองกลีบขวาส่วนข้างพบว่ามีรอยบุ๋มลงไป เมื่อเปิดเยื่อหุ้มสมองดูพบว่ามีคล้ายโพรงน้ำ โดยรอบโพรงมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสมองสีเหลือง ไม่พบว่าเป็นหนอง (เข้าได้กับการมีถุงน้ำ)
- เนื้อสมองซีด ไม่พบเลือดออก และไม่พบว่าโพรงน้ำในเนื้อสมองโตผิดปกติ
- กล้ามเนื้อรอบคอไม่พบเลือดออก
- กระดูกสันหลังส่วนคอและกระดูกคออยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบสภาพหัก งอ แตก
- ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตกว่าปกติกว่าเท่าตัว (100 กรัม)
- กระดูกอกหักตรงกลางกระดูก-และกระดูกซี่โครงที่ 2-7 ด้านซ้ายและขวาหักทางตอนหน้า (เข้าได้กับกระบวนการกู้ชีพ) (ภาพที่ 4)
- เนื้อปอดคั่งเลือด ไม่พบพยาธิสภาพชัดเจน
- เนื้อเยื่อในช่องอกและส่วนหลังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หัวใจมีขนาดโตกว่าปกติเท่าตัว (หนัก 520 กรัม)
- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหลักทั้ง 3 เส้น มีการตีบร้อยละ 20-60 โดยเฉพาะเส้นเลือดที่มาเลี้ยงด้านขวาของหัวใจ (ภาพที่ 5)
- ลิ้นหัวใจเอออร์ติกและไมทัลขรุขระ มีลักษณะคล้ายตุ่มเหลืองที่ขอบของลิ้นหัวใจ
- กล้ามเนื้อหัวใจส่วนล่างซ้ายหนาขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย 2.0-2.2 เซนติเมตร
- กล้ามเนื้อพบว่ามีหย่อมสีขาวซีดที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและห้องล่างขวา เข้าได้กับพยาธิสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ (ภาพที่ 6-7)
- ตับ ม้าม ไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- กระเพาะอาหารพบข้าวและผักยังไม่ย่อยประมาณเกือบเต็มกระเพาะ
- ลำไส้ทั้งเล็กและใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- มดลูกและรังไข่รวมถึงท่อนำไข่ถูกตัดออกไปทั้งสองข้าง (จากการรักษาในอดีต)
- กระเพาะปัสสาวะและอวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:
- หมู่เลือดเอ
- ตรวจไม่พบเอทานอลในเลือด
- ตรวจไม่พบยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในเลือดและของเหลวจากกระเพาะอาหาร
- ตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงในกลุ่มคาร์บาร์เมทและกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตจากของเหลวในกระเพาะอาหาร
- ตรวจไม่พบสารไซยาไนด์จากของเหลวในกระเพาะอาหาร
- ตรวไม่พบสารเมทแอมเฟตามีนในเลือดและปัสสาวะ
- ตรวจไม่พบสารอนุพันธ์ของมอร์ฟีนในเลือด
สาเหตุการตาย:
ระบบไหลเวียนล้มเหลวจากพยาธิสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ
พฤติการณ์ที่ตาย:
เข้าได้กับเหตุตายตามธรรมชาติ
วิเคราะห์และวิจารณ์
การที่ผู้ตายรายนี้เป็นหญิงสูงอายุตายในขณะที่เดินในห้างสรรพสินค้าที่ผู้คนพลุกพล่านจึงอาจเป็นกรณีศึกษาได้ และพิจารณาได้ดังนี้
ประการที่ 1: การตายในขณะเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็น “สถานที่สาธารณะ” ได้
การตายลักษณะเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะไม่อาจทราบได้ว่า “สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจากสิ่งใด” เช่น
1. อาจเกิดจากการที่ได้กินน้ำหรืออาหารก่อนหน้าที่มา แล้วเกิดเป็นพิษตามมาทำให้เสียชีวิต ในกรณีนี้มิได้หมายความว่า “ขณะแรกเกิดเหตุจะอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า” แต่อาจอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ที่รถ ฯลฯ แล้วยังไม่เกิดเหตุ ต่อเมื่อผู้ตายลงมาเดินที่ห้าง “จึงเกิดอาการขึ้น”
2. การถูกวางยาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์2-3 ร่างกายหรือชีวิต กรณีนี้เชื่อว่าจะเป็นการเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแน่นอน และผู้ที่ประสงค์ร้ายอาจอยู่ใกล้กับผู้ตายเอง เช่น อาจทำตัวเป็น “พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือผู้ตายโดยแกล้งทำเป็นว่าเข้าช่วยและมีการนำทรัพย์สินของผู้ตายไปในขณะที่เข้าทำการช่วยเหลือ” เป็นต้น
ประการที่ 2: การตายผิดธรรมชาติต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
เมื่อให้เป็นการตายผิดธรรมชาติแล้ว แพทย์ต้องปรับเข้ากับการตายตามมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา1 เสมอ
มาตรา ๑๔๘ เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
(๑) ฆ่าตัวตาย
(๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(๔) ตายโดยอุบัติเหตุ
(๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
กระบวนการชันสูตรพลิกศพ:
ก. กระบวนการชันสูตรพลิกศพในกรณีนี้ย่อมต้องถือว่าเป็น “การตายผิดธรรมชาติชนิดทั่วไป” (มิใช่การตายผิดธรรมชาติชนิดพิเศษที่ต้องชันสูตรพลิกศพ 4 ฝ่าย) การชันสูตรพลิกศพจึงประกอบด้วยพนักงานสอบสวนและแพทย์เพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น และเมื่อชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ที่เกิดเหตุ (ที่ที่พบศพในที่นี้คือ โรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ตายถูกนำไปเพื่อกระบวนการกู้ชีพ) ไม่สามารถที่จะหาสาเหตุแห่งการตายได้อย่างชัดเจนเพราะเป็นการเฉพาะหน้าและเวลาอันสั้น อีกทั้งยังมิได้มีการตรวจ/หรือมิสามารถตรวจหาสิ่งผิดปกติได้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงจำเป็นที่แพทย์ต้องนำศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ
ข. เหตุที่การชันสูตรพลิกศพย่อมเห็นได้ว่า “ไม่สามารถที่จะหาสาเหตุการตายได้” ทั้งนี้เห็นได้จากไม่ได้มีบาดแผลรุนแรงแต่อย่างใด ไม่พบว่ามีสาร คราบ กลิ่น ที่บริเวณทวาร (ปาก หู จมูก ตา) หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดมาตามร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ตายแต่ประการใด ทำให้เกิดกรณีสงสัยว่า “อาจเกิดจากสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายรวมถึงการตายตามธรรมชาติจากโรคแห่งผู้ตายด้วย” อีกทั้งต่อมาแม้จะนำศพเข้ามาตรวจต่อที่โรงพยาบาลของรัฐบาลก็ยังไม่สามารถที่จะหาสาเหตุแห่งการตายได้เช่นเดียวกัน
ประการที่ 3: การตรวจศพหลังการชันสูตรพลิกศพ
กรณีดังกล่าวนี้ต้องถือว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพแล้วต้องส่งศพเพื่อการตรวจศพต่อไป ณ โรงพยาบาลของรัฐ ตามกฎหมายไม่อาจดำเนินการประการอื่นเพราะจะทำให้ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ (ในฐานะเจ้าพนักงาน) มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างสูง โดยเฉพาะหากไม่ได้กระทำให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามขั้นตอนอาจถูกกล่าวหาว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา2 ได้
ประการที่ 4: ความเสี่ยงของผู้ดำเนินการชันสูตรพลิกศพผู้ที่ตายในลักษณะดังกล่าว
อาจจำแนกความเสี่ยงของผู้ที่ตายในลักษณะดังกล่าวออกได้ดังนี้
1. สิ่งที่เป็นความเสี่ยง
สิ่งที่เป็นความเสี่ยงก็คือ การเสี่ยงต่อการ “มีกล่าวหาในเวลาต่อมาว่ามีการกระทำความผิดอาญาขึ้นกับผู้ตายจนทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” เช่น
ก. สงสัยว่าผู้ตายถูกวางยา (มอมยา) เพื่อการกระทำผิดทางอาญา2 (รูดทรัพย์) สงสัยว่าจะต้องการทำร้ายร่างกายหรือประสงค์ต่อชีวิตของผู้ตายจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
ข. สงสัยว่าทางห้างสรรพสินค้าประมาทกรณีหนึ่งกรณีใด เช่น อาจวางสายไฟฟ้าไม่ดีทำให้เกิดอันตรายได้ หรือพื้นลื่นทำให้ผู้ตายลื่นล้มจนเสียชีวิต2
การกล่าวหาเช่นนี้กระทำได้ง่ายโดยผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ตาย เช่น คู่สมรส บุตร บิดา มารดา หรือแม้แต่ทายาทชั้นห่าง เช่น พี่น้องของผู้ตาย หรือหลานของผู้ตาย เป็นต้น และเนื่องจากเป็นการกล่าวหาในทางอาญา ซึ่งถือว่าเป็นความร้ายแรงและเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยในสังคม ทำให้หากมีการกล่าวขึ้นเช่นดังกล่าวนี้ พนักงานสอบสวน (เจ้าพนักงาน) ย่อมต้องดำเนินการตามหน้าที่ตามกฎหมาย1 และสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องการตายก็คือ “รายงานการชันสูตรพลิกศพ” (บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ) และ ”รายงานการตรวจศพ” ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา1 นั่นเอง
“มาตรา ๑๒๙ ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ”
2. ผู้ที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงตามระยะเวลาที่เข้าเกี่ยวข้อง
ผู้ที่อยู่ในข่ายที่อาจเกี่ยวข้องและอาจเป็นความผิดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นตามระยะแห่งการเข้าเกี่ยวข้องดังนี้
2.1 ความเสี่ยงหากมิได้จัดให้มีการชันสูตรพลิกศพ
หมายถึง ในช่วงที่มีการตายเกิดขึ้น
ก. หากตายในห้างสรรพสินค้าหรือตายที่สถานที่เป็นของเอกชน ผู้ที่มีหน้าที่ดูแล “ห้างสรรพสินค้า” หรือสถานที่เอกชนนั้นย่อมอยู่ในฐานะเจ้าบ้าน หากมิได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน แต่กลับให้ญาตินำศพไปดำเนินการทางศาสนาเลยย่อมเป็นความเสี่ยงต่อผู้ที่มอบศพโดยมิได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน กระบวนการที่ไม่อาจดำเนินการต่อได้ เช่น เมื่อ “ไม่มีหนังสือรับรองการตาย” ย่อมไม่อาจทำ “มรณบัตร” ได้ ก็จะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตามกระบวนการ โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 25344 ได้
ข. หากมีผู้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการตายตามธรรมชาติ “ให้ญาติดำเนินการตามประเพณี” ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า “ไม่มีหนังสือรับรองการตาย” หรือ “ใบรับแจ้งการตาย” เพื่อดำเนินการทำ “มรณบัตร”4 ก็จะติดขัดในกระบวนการดำเนินการกับศพต่อไปอีกมาก ย่อมเป็นความเสี่ยงของเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน)
ค. หากมีการนำศพไปที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่งแห่งใด (เพราะเบื้องต้นอาจไม่แน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว) และแพทย์เห็นว่า “มิใช่การตายผิดธรรมชาติ” ก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อแพทย์ท่านนั้นทันทีที่หากมีการกล่าวอ้าง ตามข้อ 1 (สิ่งที่เป็นความเสี่ยง)
2.2 ความเสี่ยงของแพทย์หากชันสูตรพลิกศพแล้วให้เหตุตายจาก “โรค” โดยไม่ทำการส่งตรวจเพิ่มเติม
เป็นความเสี่ยงของแพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน ซึ่งแพทย์ตามกฎหมายมีฐานะเป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย” เพราะเมื่อไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการตายได้ในขณะที่ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วย่อมต้องส่งศพเพื่อการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152)1 หากไม่ดำเนินการเท่ากับเป็นความเสี่ยงทางด้านจริยธรรม5-7 และอาญา2 เป็นอย่างมาก
2.3 ความเสี่ยงของแพทย์ที่ได้รับศพมาเพื่อการตรวจต่อ (ตามมาตรา 152)1 แต่มิได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียด
เป็นความเสี่ยงของแพทย์ที่เจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน) ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจแต่แพทย์ไม่ทำการตรวจศพอย่างละเอียด กลับมอบศพให้แก่ทายาทของผู้ตายไปโดยอาจให้สาเหตุการตายอย่างทั่วไปประการหนึ่งประการใด เช่น “ระบบไหลเวียนล้มเหลว” (mode of death) เป็นต้น แต่แพทย์ต้องทราบว่าหากเกิดกรณีตามข้อ 1 (สิ่งที่เป็นความเสี่ยง) ขึ้นแล้ว แพทย์ท่านนั้นย่อมไม่อาจหนีความรับผิดชอบแห่งตนได้ โดยเฉพาะใน 2 ด้านที่สำคัญคือ มาตรฐานแห่งการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ตามเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนด)5-6 และการเป็นเจ้าพนักงานละเว้นหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ2
ประการที่ 5: สาเหตุแห่งการตายตามกรณีอุทาหรณ์
จากการตรวจศพอย่างละเอียด (มาตรา 152) ทำให้แพทย์สามารถทราบสาเหตุแห่งการตายได้ ทั้งนี้เพราะการตรวจศพทำให้เห็นถึง “พยาธิสภาพของหัวใจ” สภาพการพบร่องรอยของการที่หัวใจขาดเลือดและการตีบของหลอดเลือด (แม้จะไม่มากนักก็ตาม)
ประการที่ 6: ประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าขณะที่ผู้ตายเดินอยู่จนถึงแก่ความตาย
สามารถประมวลเหตุการณ์ได้คือ ผู้ตายมีสภาพการขาดเลือดของหัวใจ (จากพยาธิสภาพของหัวใจที่มีอยู่เดิม) ซึ่งผู้ตายอาจทราบหรือไม่ทราบมาก่อนก็ได้ และเมื่อเดินในห้างสรรพสินค้าซึ่งอาจเดินนานหรือมีการใช้กำลังกายมากในการเดินทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลันเพราะพยาธิสภาพที่มีอยู่เดิมแล้ว ทำให้ผู้ตายล้มลงและเสียชีวิต แล้วถูกนำไปสู่กระบวนการกู้ชีพ ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดแล้วก็ตาม
สรุป
การที่แพทย์ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพผู้ที่ตายผิดธรรมชาติ หากแพทย์เห็นว่าการตายนั้นเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เกิดขึ้นในที่ที่ไม่สมควรเกิดขึ้นโดยเฉพาะในท่ีสาธารณะ เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วเสร็จ แพทย์ “จำเป็นต้องส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อเนื่อง” โดยไม่ชักช้า และแพทย์ต้องไม่ใช้เหตุแห่งการถูกหว่านล้อมด้วยประการใด ๆ เพื่อมิได้ดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งนี้เพราะหากแพทย์ “ใจอ่อน” โดยมิได้ดำเนินการตามมาตรฐานและหน้าที่แล้ว ต่อมาหากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการตายดังกล่าวเกิดขึ้น อาจทำให้แพทย์เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้มาตรฐาน (ตามเกณฑ์แห่งแพทยสภา) และ/หรือการเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ (มาตรา 157) ได้
เอกสารอ้างอิง
1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf
2. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf
3. แก๊งมิจฉาชีพบุก ร.พ.รามา ตีซี้วางยารูดทรัพย์คนไข้. หนังสือพิมพ์แนวหน้า. วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556. http://www.naewna.com/local/72434
4. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534.
5. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.
6. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.
7. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.