ผู้ตายที่แพทย์ให้สาเหตุการตายแล้ว: พนักงานสอบสวนยังสามารถส่งศพมาเพื่อการตรวจเพิ่มเติมได้

ผู้ตายที่แพทย์ให้สาเหตุการตายแล้ว: พนักงานสอบสวนยังสามารถส่งศพมาเพื่อการตรวจเพิ่มเติมได้

The Deceased Who Has Death Certificate: Police Can Sent The Deceased To Further Post-Mortem Examination

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            การที่ผู้ตายมีอายุไม่มากนัก เช่น เด็กหรือวัยกลางคนถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการ “ต้อง” นำศพเพื่อเข้ามารับการตรวจต่อหลังทำการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150, 151 และมาตรา 152 นั่นเอง1 อย่างไรก็ตาม หากผู้ตายรายดังกล่าวมีอายุไม่มากก็จริง แต่มีสภาพแห่งการป่วยเจ็บอยู่ดั้งเดิมจนเป็นที่ประจักษ์ (เรื้อรัง) โดยอาจมี “ใบรับรองแพทย์” หรือ “ใบนำส่งตัวผู้ป่วย” หรือ “เวชระเบียนที่เกี่ยวข้อง” มาแสดงให้เห็นได้เช่นนั้นแล้ว อีกทั้งการตรวจ “สภาพแห่งศพ” เมื่อทำการ “ชันสูตรพลิกศพ” แพทย์ก็ไม่เห็นสิ่งที่ผิดปกติ แพทย์ย่อมไม่ติดใจสงสัยเพราะไม่มีสิ่งที่ตรวจพบว่า “มีร่องรอยอันจะเป็นสาเหตุที่เป็นการตายผิดธรรมชาติ” หากเป็นเช่นนี้แล้วแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพสามารถที่จะเขียน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ร่วมกับพนักงานสอบสวน (ตามมาตรา 150) และสามารถให้ความเห็นถึง “สาเหตุแห่งการตายว่าเป็นเหตุธรรมชาติ” ตามข้อความที่ต้องระบุไว้ในบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพนั้นได้ และแพทย์สามารถออก “ใบรับแจ้งการตายหรือ ทร.4 ตอนหน้า” (รวมถึงอาจออกเอกสารหนังสือรับรองการตาย, ทร.4/1) ได้เลย (หากมั่นใจมาก) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์ได้ออกเอกสารโดยมีความเห็นเช่นว่านี้แล้ว เจ้าพนักงานอื่นที่ร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย (พนักงานสอบสวน) ย่อมเห็นพ้องต้องกันกับแพทย์และไม่ติดใจสงสัยถึงสาเหตุที่ตาย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่แพทย์มิได้เป็น “หัวหน้าคณะฯ ในการชันสูตรพลิกศพ” จึงเป็นไปได้ว่า หัวหน้าคณะฯ ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ หากยังคงติดใจสงสัย หรือมีประเด็นที่ต้องการนำส่งศพเพื่อการตรวจต่อ (ตามมาตรา 151 และ 152) แล้ว ก็ย่อมสามารถกระทำได้

 

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย ที่หลังการชันสูตรพลิกศพแล้วแพทย์ไม่ติดใจ แต่พนักงานสอบสวนขอส่งศพเพื่อการตรวจต่อ)

            ผู้ตายเป็นชาย อายุ 48 ปี รูปร่างท้วม มีประวัติป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคไต และความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานาน ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐเป็นประจำอยู่ โดยได้ยาเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตายยังคงทำงาน (ด้านเอกสาร) โดยทั่วไปจะทำงานถึงเที่ยง และช่วงบ่ายจะมาพักผ่อนที่บ้าน

            ในวันเกิดเหตุ มีผู้เห็นผู้ตายกลับมาที่บ้านเวลาประมาณ 12.00 น. แล้วก็ไม่เห็นผู้ตายอีก จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. จึงได้เห็นว่าผู้ตายนอนอยู่ที่เก้าอี้นวมยาว (sofa) ไม่หายใจ ไม่ขยับเขยื้อนตัว เนื้อตัวเย็น แสดงถึงว่าผู้ตายได้เสียชีวิตแล้ว ญาติของผู้ตายจึงได้แจ้งไปยังสถานีตำรวจในท้องที่ที่บ้านพักตั้งอยู่ (สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน) เจ้าพนักงานจึงได้มาทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์ (ผู้มีหน้าที่) ณ สถานที่ที่พบศพคือบ้านของผู้เสียชีวิต

            สภาพศพภายนอก: (ณ ที่ที่พบศพ) (ภาพที่ 1)

            - ศพชายอายุประมาณ 45-50 ปี รูปร่างท้วม ตัวยาวประมาณ 170 เซนติเมตร ศีรษะมีผมค่อนข้างน้อย มีเฉพาะส่วนข้างของหนังศีรษะ ไม่ไว้หนวดและเครา

            - ผู้ตายนอนอยู่บนเตียงโซฟา มีเบาะรองนอน หนุนหมอน สวมเสื้อแขนยาวสีเข้ม สวมกางเกงขายาวสีเข้ม และมีเข็มขัด ห่มด้วยผ้าห่มลายแดง ขาว ดำ

            - ที่เท้าและมือบวม โดยเฉพาะที่เท้าและแข้งทั้งสองข้างบวมมาก

            - ศพแข็งตัวปานกลาง พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังการเสียชีวิตที่หลังได้ปานกลางถึงชัดเจน (สอดคล้องกับประวัติของผู้ตายเสียชีวิตมาแล้วน่าจะประมาณ 2-3 ชั่วโมง)

            - ตรวจไม่พบบาดแผลรุนแรงตามใบหน้า คอ ร่างกาย หน้าอก หลัง แขน และขา

            - ไม่พบการงอผิดรูปของแขนและขา

            - ไม่พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา และลำตัว

            - ไม่พบสภาพเขียวคล้ำตามริมฝีปาก และปลายมือปลายเท้า

            - สภาพศพค่อนข้างซีด

            - ไม่ได้กลิ่นฉุนหรือผิดปกติ หรือคราบผิดปกติรอบปาก จมูก หู

            เอกสารประกอบที่แพทย์ต้องพิจารณา:

            ญาติของผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งโรคไต โรคเบาหวาน โรคความดัน และได้รับยาจากโรงพยาบาลของรัฐเป็นประจำ และได้นำเอกสารเพื่อสนับสนุนการป่วยเจ็บของผู้ตาย (ภาพที่ 2 และภาพที่ 3)

            แพทย์กับการออกเอกสาร:

            ในรายนี้แพทย์ได้ออก

            1. บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ (ทำร่วมกับพนักงานสอบสวน)

            2. ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า) โดยระบุสาเหตุการตายคือ “หัวใจล้มเหลวจากโรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง”

            หลังการดำเนินการชันสูตรพลิกศพ:

            เมื่อแพทย์และพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว (มาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แพทย์มีความเห็นว่า “ศพรายนี้มีสาเหตุแห่งการตายน่าจะชัดเจน” เนื่องจากการป่วยเรื้อรังและยังมีประวัติจากโรงพยาบาล รวมถึงการที่เคยมีประวัติที่แพทย์ได้เขียนส่งผู้ป่วย (referred note) ด้วย จึงเห็นได้ชัดว่า สภาพแห่งการป่วยนั้นเรื้อรังและเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ แพทย์ผู้ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ทำเอกสาร “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ให้กับพนักงานสอบสวน โดยระบุ

            ก. สาเหตุแห่งการตาย

            ข. การดำเนินการกับศพ เป็นการที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการพิจารณาตัดสินหากมีประเด็นอื่นที่ยังคงติดใจอยู่ ทั้งนี้ถือว่าเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนโดยแท้ ในประการที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการกับศพดังกล่าวได้

            ค. แพทย์ผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพได้ทำเอกสาร “ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า)” ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย

            ง. แพทย์ผู้ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพทำหน้าที่แห่งตนเสร็จสมบูรณ์ และได้กลับหน่วยงานของตน โดยเชื่อว่า “พนักงานสอบสวนน่าจะพิจารณาแล้วเห็นชอบในเรื่องการดำเนินการของแพทย์และการให้สาเหตุแห่งการตาย” แล้ว โดยเป็นเรื่องของ “การตายตามธรรมชาตินั่นเอง

            การดำเนินการโดยพนักงานสอบสวน:

            พนักงานสอบสวนผู้ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์ได้ติดต่อมายังแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพ (ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) ว่า “เนื่องจากผู้ตายในรายนี้ยังมีผู้อื่นที่เชื่อว่าอาจเกิดจากการได้สารหรือยาผิดไป อีกทั้งยังมีประกันชีวิตซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพต่อด้วย จึงขอนำศพมาเพื่อรับการตรวจ ณ สถานพยาบาลที่สามารถดำเนินการได้ และศพได้ถูกส่งมายังสถานพยาบาลเพื่อดำเนินการตรวจต่อตามมาตรา 151 และมาตรา 152 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ภาพที่ 4)

            การตรวจศพต่อตามมาตรา 152:

            แพทย์ได้ทำการตรวจศพต่อเนื่องจากการชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย (มาตรา 150, มาตรา 151 และมาตรา 152) โดยทำการตรวจสภาพแห่งศพภายนอก (ภาพที่ 5) และประวัติที่สืบค้นได้ (ภาพที่ 6) อีกทั้งได้ทำการตรวจโดยการเอกซเรย์และการเก็บเลือดเพื่อการตรวจทางพิษวิทยาเพิ่มเติม และแพทย์สามารถออก “หนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1)” เพื่อทำมรณบัตร (ทร.4) ตามกฎหมายต่อไป2

วิเคราะห์และวิจารณ์

            ประการที่ 1: การชันสูตรพลิกศพ

            การตายผิดธรรมชาติจำต้องจัดให้มีการ “ชันสูตรพลิกศพ” ตามกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากตามกฎหมายมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เช่นนั้น1

            “มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

            การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

            (๑) ฆ่าตัวตาย

            (๒) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

            (๓) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

            (๔) ตายโดยอุบัติเหตุ

            (๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”

            ประการที่ 2: ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพ

            ข้อ 1. โดยทั่วเมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว และมีความเห็นประการใดพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานอื่นผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพจะ “เชื่อแพทย์” และเห็นพ้องต้องกัน เช่น หากแพทย์เห็นว่า “สามารถออกเอกสาร (บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ) ได้ รวมถึงให้สาเหตุแห่งการตายได้แล้ว (สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534)2 แล้ว” ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงพนักงานสอบสวนก็จะทำตามที่แพทย์ได้เขียนระบุไว้

            ข้อ 2. หากแพทย์ยังสงสัยว่าจะเป็นการตายผิดธรรมชาติและประสงค์ที่จะให้มีการส่งศพเพื่อตรวจต่อ ตามมาตรา 151 และ 152 แล้ว ทั้งนี้เพราะเกรงว่าจะไม่ได้มาตรฐานแห่งวิชาชีพเวชกรรม3 และอาจเป็นความผิดทางอาญาในฐานะที่แพทย์เป็นเจ้าพนักงานด้วย4 แพทย์จะระบุไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ด้วย และโดยทั่วไปอีกเช่นเดียวกันที่เจ้าพนักงานอื่นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะเห็นสอดคล้องด้วย โดยพนักงานสอบสวนจะจัดให้มีการเคลื่อนย้ายศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ (ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนจะแจ้งเพื่อขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิที่เกี่ยวข้องเพื่อนำส่งศพทำการตรวจต่อ พร้อมทั้งออกหนังสือ “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” ให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ นำมา ณ สถานที่ของรัฐที่พนักงานสอบสวนต้องการให้ทำการตรวจศพ)

            ข้อ 3. หากแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพเห็นว่าต้องนำศพ (ควรนำศพ) เพื่อมารับการตรวจต่อ (ตามมาตรา 152) แต่พนักงานสอบสวนเห็นเป็นประการอื่น (ขอไม่ให้ส่งศพมาตรวจต่อ) ก็ย่อมสามารถทำได้และมักพบอยู่เป็นประจำ เช่น

                        ก. การที่มีผู้ตายที่แขวนคอตายที่บ้านแพทย์เห็นว่า การแขวนคอตายสมควรส่งศพเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่า เหตุตายที่แพทย์ระบุโดย “สันนิษฐานว่าขาดอากาศ” เพียงพอสำหรับการที่จะใช้เป็นเหตุตายและการที่จะให้ทางนายทะเบียน (เขตหรืออำเภอ) ออกมรณบัตร (ทร.4) ได้แล้วตามกฎหมาย2 เช่นนี้พนักงานสอบสวนก็อาจตัดสินใจไม่ส่งศพเพื่อมารับการตรวจดังที่แพทย์ต้องการให้ส่งศพมาตรวจได้ ทั้งนี้ต้องถือว่า “หัวหน้าคณะฯ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพมิใช่แพทย์”

                        ข. การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งศพมารับการตรวจต่อตามที่แพทย์ได้ระบุไว้นั้น อาจเนื่องจากการที่ญาติมาร้องขอ “สร้างความกดดัน” หรืออาจเป็นได้เกี่ยวกับ “ผู้มีอำนาจหรืออิทธิพล” ในท้องที่นั้น ๆ ทำให้พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามที่เขาเหล่านั้นต้องการ ยิ่งเห็นว่ามีสาเหตุการตายที่แพทย์ได้ออกไว้ในขั้นต้นเพียงพอที่จะดำเนินการต่อ (ให้นายทะเบียนออกมรณบัตร) แล้วก็ถึงกับไม่ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อเลย

                        หมายเหตุ: ในเวชปฏิบัติที่แพทย์ผู้มีหน้าที่ในการทำการชันสูตรพลิกศพได้กระทำนั้น มักจะพบกรณีดังนี้เป็นสำคัญ แพทย์จึงพึงรำลึกไว้เสมอด้วย

            ข้อ 4. กรณีที่แพทย์เห็นว่า “ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ต้องนำศพเพื่อมารับการตรวจต่อ” ตามมาตรา 151 และ 152 แล้วนั้น แต่พนักงานสอบสวนกลับเห็นว่ายังมีความจำเป็นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม พนักงานสอบสวน “ย่อมสามารถที่จะจัดส่งศพดังกล่าวมาเพื่อให้แพทย์ผู้มีหน้าที่ (ตามมาตรา 152) ทำการตรวจศพต่อได้”  ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า “พนักงานสอบสวนเป็นหัวหน้าคณะฯ ในการชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติชนิดทั่วไป” นั่นเอง (ดังเช่นตามอุทาหรณ์ข้างต้น)

                        หมายเหตุ: ในเวชปฏิบัตินั้นพบกรณีนี้เป็นส่วนน้อย แต่หากมีเหตุกรณีดังนี้เกิดขึ้นมักเกี่ยวข้องกับญาติอีกเช่นเดียวกัน เช่น มีญาติบางส่วนติดใจสงสัยในสาเหตุแห่งการตาย หรือกรณีที่ผู้ตายมีประกันชีวิตและหากปราศจากเอกสารการตรวจศพแล้ว อาจทำให้ญาติของผู้ตายไม่สามารถเรียกร้องสิทธิในเรื่องการตายดังกล่าวได้ หรือเรียกร้องได้แต่อาจได้ใน “จำนวน” ที่น้อยกว่าที่ควรจะได้หรือที่คาดว่าจะได้ เป็นต้น (ดังเช่นอุทาหรณ์ข้างต้น)

ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ตายเสียชีวิตที่บ้านโดยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง/ร้ายแรง

            การที่ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง/ร้ายแรงที่มารับการรักษา ณ สถานพยาบาลมาเป็นเวลาช้านานอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าไม่เคยได้รับเอกสารทางการแพทย์ที่ระบุถึง “โรคที่ป่วย” แม้แต่ครั้งเดียว คงมีแต่เพียง

            ก. ใบนัดเพื่อทำการตรวจในวันต่าง ๆ ตามที่ระบุ โดยมิได้บอกถึงโรคและการตรวจเสียด้วยซ้ำ

            ข. ใบเสร็จรับเงินหากผู้ป่วย (หรือญาติ) ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจ หรือค่ายา รวมถึงค่าบริการอื่น ๆ

            ค. ยาที่ได้รับมาเพื่อบำบัดรักษา มีเพียงชื่อยา ขนาดที่ต้องกิน จำนวนครั้งที่ต้องกิน เป็นต้น

            ในการชันสูตรพลิกศพนั้น แพทย์ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพย่อมต้องการทราบถึง “โรคที่ผู้ป่วยเป็นมาอยู่ก่อน (เรื้อรัง)” เช่น เป็นมะเร็ง เป็นโรคปอด (วัณโรค) โรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคที่ไม่อาจรักษาได้ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น แต่กลับพบว่าไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เลย แม้ว่าผู้ป่วย (ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว) จะป่วยเจ็บมานานนับปี และอาจถึงเป็น 10 ปีก็ตาม ก็ไม่สามารถหาเอกสารได้ใม่ว่าจะเป็น เวชระเบียน (หรือส่วนของเวชระเบียน), ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ, ผลการสืบค้นทางรังสี เช่น ผลหรือแผ่นเอกซเรย์ แผ่นการตรวจโดยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) แผ่นการตรวจโดยคลื่นสะท้อนแม่เหล็ก (MRI) ฯลฯ ซึ่งทำให้แพทย์เกิดความลำบากใจในการให้สาเหตุการตาย และหากไม่ทราบและแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อการให้ “สาเหตุการตาย” เพื่อให้ทางนายทะเบียนออกมรณบัตร (ทร.4) โดยแพทย์เห็นสมควรให้เคลื่อนย้ายศพมาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลเสียก่อนเพื่อการสืบค้น ก็จะเกิดปัญหาพิพาทกับทายาทของผู้ตายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะญาติไม่ต้องการ ด้วยเกรงว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่าย จะต้องมีการผ่าศพ ได้จองวัดไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น

สรุป

            การที่มีผู้ตาย ณ ที่บ้านโดยที่มีหลักฐานเกี่ยวกับการป่วยเจ็บเรื้อรังหรือร้ายแรง เช่น โรคไตวาย โรคมะเร็งเป็นต้น และแพทย์ผู้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพกับเจ้าพนักงานอื่นเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะออกใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า) ได้แล้ว แพทย์สามารถที่จะทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพพร้อมทำใบรับแจ้งการตายเพื่อให้นายทะเบียนออกมรณบัตรต่อไปได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าคณะฯ ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพเห็นว่าสมควรนำศพเพื่อมารับการตรวจเพิ่มเติมย่อมสามารถทำได้ ทั้งนี้แพทย์ต้องระลึกไว้ว่า “ตัวแพทย์เองมิใช่หัวหน้าคณะฯ ในการร่วมชันสูตรพลิกศพ”

 

เอกสารอ้างอิง

            1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

            2. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๐๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๙๗/๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔.

            3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

            4. ประมวลกฎหมายอาญา. http://www.dopa.go.th/dopanew/law/02.pdf