ความหนาแน่นหินปูนหลอดเลือดหัวใจ และความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

  ความหนาแน่นหินปูนหลอดเลือดหัวใจ และความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  

JAMA. Published online November 18, 2013.

            บทความเรื่อง Calcium Density of Coronary Artery Plaque and Risk of Incident Cardiovascular Events รายงานว่า ความหนาแน่นหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery calcium : CAC) ซึ่งตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีความสำคัญต่อการทำนายเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการตรวจความหนาแน่นหินปูนหลอดเลือดหัวใจด้วยคะแนน Agatston เป็นวิธีที่ใช้เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ดี มีข้อมูลบางชิ้นเสนอแนะว่าความหนาแน่นของหินปูนที่สูงขึ้นอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

            นักวิจัยประเมินความสัมพันธ์โดยอิสระของปริมาตร CAC และความหนาแน่นของ CAC กับความเสี่ยงการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในงานวิจัย MESA (Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis) ในผู้ชายและผู้หญิง 3,398 รายจาก 4 เชื้อชาติประกอบด้วย กลุ่มเชื้อสายยุโรปที่ไม่มีเชื้อสายฮิสแปนิก กลุ่มเชื้อสายแอฟริกัน กลุ่มเชื้อสายฮิสแปนิก และกลุ่มเชื้อสายจีน ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุระหว่าง 45-84 ปี ปลอดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เส้นฐาน และมี CAC สูงกว่า 0 จากการตรวจ CT ที่เส้นฐาน และได้ติดตามจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010

            มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด

            ระหว่างมัธยฐานการติดตาม 7.6 ปี พบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด 265 ครั้ง แบ่งเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 175 ครั้ง และเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น 90 ครั้ง ผลการประเมินคะแนนปริมาตร lnCAC และความหนาแน่นของ CAC ในตัวแบบพหุตัวแปรเดียวกันชี้ว่า คะแนนปริมาตร lnCAC สะท้อนความสัมพันธ์โดยอิสระกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยมี hazard ratio (HR) เท่ากับ 1.81 (95% CI, 1.47-2.23) per standard deviation (SD = 1.6) increase, absolute risk increase 6.1 per 1,000 person-years และสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดมีค่า HR เท่ากับ 1.68 (95% CI, 1.42-1.98) per SD increase, absolute risk increase 7.9 per 1,000 person-years ขณะที่คะแนนความหนาแน่น CAC สะท้อนความสัมพันธ์โดยอิสระแบบกลับโดยมีค่า HR เท่ากับ 0.73 (95% CI, 0.58-0.91) per SD (SD = 0.7) increase สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยมี absolute risk decrease 5.5 per 1,000 person-years และค่า HR เท่ากับ 0.71 (95% CI, 0.60-0.85) per SD increase สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด CVD โดยมี absolute risk decrease 8.2 per 1,000 person years การวิเคราะห์พื้นที่ใต้เส้นโค้ง receiver operating characteristic ช่วยปรับปรุงการทำนายความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญด้วยการเพิ่มคะแนนความหนาแน่นร่วมกับตัวแบบที่มีคะแนนปริมาตรสำหรับทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดระดับปานกลางพบว่า พื้นที่ใต้เส้นโค้งสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจาก 0.53 (95% CI, 0.48-0.59) เป็น 0.59 (95% CI, 0.54-0.64), p = 0.02

            ปริมาตร CAC สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่ความหนาแน่นของ CAC ที่ปริมาตร CAC ทุกระดับมีความสัมพันธ์แบบกลับที่มีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงควรที่จะพิจารณาบทบาทของความหนาแน่นของ CAC ในการประเมินคะแนน CAC ด้วยวิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน