รับประทานถั่วเปลือกแข็งลดการตาย

รับประทานถั่วเปลือกแข็งลดการตาย  

N Engl J Med 2013;369:2001-2011.

            บทความเรื่อง Association of Nut Consumption with Total and Cause-Specific Mortality รายงานว่า การรับประทานถั่วเปลือกแข็งมากขึ้นสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงโรคเรื้อรังร้ายแรง รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานถั่วเปลือกแข็งและอัตราตายยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

            นักวิจัยประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานถั่วเปลือกแข็งกับอัตราตายรวมและอัตราตายจำเพาะโรคในผู้หญิง 76,464 รายในการศึกษา Nurses' Health Study (ค.ศ. 1980-2010) และผู้ชาย 42,498 รายในการศึกษา Health Professionals Follow-up Study (ค.ศ. 1986-2010) โดยไม่รวมถึงผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีประวัติโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือสโตรค นักวิจัยประเมินการรับประทานถั่วเปลือกแข็งที่เส้นฐานและติดตามทุก 2-4 ปี

            ระหว่างการติดตามระยะ 3,038,853 person-years พบผู้หญิงเสียชีวิต 16,200 ราย และผู้ชาย 11,229 ราย การรับประทานถั่วเปลือกแข็งมีความสัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายรวมทั้งในผู้ชายและผู้หญิงหลังการปรับปัจจัยเสี่ยงที่ทราบดีหรือปัจจัยเสี่ยงต้องสงสัย ค่า pooled multivariate hazard ratios สำหรับการตายในผู้เข้าร่วมวิจัยที่รับประทานถั่วเปลือกแข็งเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานเท่ากับ 0.93 (95% confidence interval [CI], 0.90-0.96) สำหรับการรับประทานถั่วเปลือกแข็ง < 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 0.89 (95% CI, 0.86-0.93) สำหรับ 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 0.87 (95% CI, 0.83-0.90) สำหรับ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์, 0.85 (95% CI, 0.79-0.91) สำหรับ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 0.80 (95% CI, 0.73-0.86) สำหรับสัปดาห์ละ 7 ครั้งหรือมากกว่า (p < 0.001 for trend) ความสัมพันธ์แบบกลับที่มีนัยสำคัญยังเห็นได้จากการรับประทานถั่วเปลือกแข็งกับการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจ

            ข้อมูลจากการศึกษาในพยาบาลและบุคลากรด้านการแพทย์ชี้ว่า ความถี่การรับประทานถั่วเปลือกแข็งมีความสัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายรวมและอัตราตายจำเพาะโรค โดยไม่เป็นผลจากปัจจัยทำนายการตายอื่น