ลดน้ำหนักและคุมปัจจัยเสี่ยงช่วยลดอาการ Atrial Fibrillation
JAMA. 2013;310(19):2050-2060.
บทความเรื่อง Effect of Weight Reduction and Cardiometabolic Risk Factor Management on Symptom Burden and Severity in Patients with Atrial Fibrillation: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ atrial fibrillation แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าการลดน้ำหนักและการบริหารปัจจัยเสี่ยงโรคทางหัวใจและเมตาบอลิกสามารถลดภาระจาก atrial fibrillation ได้หรือไม่
นักวิจัยได้ศึกษาผลของการลดน้ำหนักและบริหารปัจจัยเสี่ยงโรคทางหัวใจและเมตาบอลิกต่อภาระจาก atrial fibrillation และโครงสร้างหัวใจจากผู้ป่วยนอกที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (n = 150) และมีอาการของ atrial fibrillation การศึกษามีขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011 โดยมีมัธยฐานการติดตาม 15 เดือน
การแทรกแซงทำโดยสุ่มให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก (กลุ่มแทรกแซง) หรือให้คำแนะนำปรับรูปแบบวิถีชีวิต (กลุ่มควบคุม) และบริหารปัจจัยเสี่ยงโรคทางหัวใจและเมตาบอลิกอย่างเคร่งครัด โดย primary outcomes ได้แก่ คะแนน Atrial Fibrillation Severity Scale ทั้งภาระจากอาการและความรุนแรงของอาการ นักวิจัยประเมินคะแนนทุก 3 เดือนจากเส้นฐานถึง 15 เดือน และ secondary outcomes ที่เส้นฐานและ 12 เดือน ได้แก่ การเกิด atrial fibrillation รวมและระยะสะสมประเมินจาก 7-day Holter, echocardiographic left atrial area และ interventricular septal thickness
มีผู้ป่วยได้รับการสุ่มและติดตาม 150 ราย (กลุ่มละ 75 ราย) จากจำนวนที่ตรวจคัดกรองรวม 248 ราย กลุ่มแทรกแซงมีการลดลงที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุมในด้านน้ำหนักตัว (14.3 และ 3.6 กิโลกรัม, p < 0.001) และคะแนนภาระอาการจาก atrial fibrillation (11.8 และ 2.6 จุด, p < 0.001), คะแนนความรุนแรงของอาการ (8.4 และ 1.7 จุด, p < 0.001), จำนวนครั้งการเกิดอาการ (2.5 และไม่เปลี่ยนแปลง, p = 0.01) และระยะสะสม (ลดลง 692 นาที และเพิ่มขึ้น 419 นาที, p = 0.002) นอกจากนี้ยังพบการลดลงของ interventricular septal thickness ในกลุ่มแทรกแซงและกลุ่มควบคุม (1.1 และ 0.6 มิลลิเมตร, p = 0.02) และ left atrial area (3.5 และ 1.9 ตารางเซนติเมตร, p = 0.02)
ข้อมูลจากการศึกษานี้ชี้ว่า การลดน้ำหนักและบริหารปัจจัยเสี่ยงอย่างเคร่งครัดลดภาระและความรุนแรงของ atrial fibrillation และส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหัวใจ ข้อมูลนี้สนับสนุนการบริหาร atrial fibrillation ด้วยการรักษาซึ่งมุ่งไปที่น้ำหนักตัวและปัจจัยเสี่ยง