ผล β-blockers ต่อการตายหลังกล้ามเนื้อหัวใจตายในผู้ป่วย COPD
BMJ 2013;347:f6650.
บทความเรื่อง Effect of β-blockers on Mortality after Myocardial Infarction in Adults with COPD: Population Based Cohort Study of UK Electronic Healthcare Records รายงานผลจากงานวิจัยเพื่อศึกษาว่าการใช้และระยะการให้ยา β-blockers ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายครั้งแรกสัมพันธ์กับการรอดชีพหรือไม่ และระบุปัจจัยที่สัมพันธ์กับการใช้ยา
นักวิจัยศึกษาจากทะเบียน Myocardial Ischaemia National Audit Project (MINAP) ของอังกฤษซึ่งโยงกับฐานข้อมูล General Practice Research Database (GPRD) ปี ค.ศ. 2003-2011 ครอบคลุมผู้ป่วย COPD ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายครั้งแรกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2003 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2008 ตามที่ระบุใน MINAP และไม่มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตายก่อนหน้านี้ในข้อมูล GPRD หรือ MINAP
มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ Cox proportional hazards ratio สำหรับการตายหลังเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายในผู้ป่วย COPD ที่ได้ยา β-blockers หรือไม่ได้ยา โดยปรับตามตัวแปรร่วมประกอบด้วย อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ยา โรคร่วม ประเภทของกล้ามเนื้อหัวใจตาย และความรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจตาย
จากผู้ป่วย COPD 1,063 ราย พบว่าการรักษาด้วย β-blockers โดยเริ่มตั้งแต่รับเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจตายสัมพันธ์กับการรอดชีพที่ดีขึ้น (fully adjusted hazard ratio 0.50, 95% confidence interval 0.36-0.69; p < 0.001; median follow-up time 2.9 years) เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้ยา β-blockers มาแล้วก่อนที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (0.59, 0.44-0.79; p < 0.001) และยังพบผลลัพธ์ใกล้เคียงกันจากคะแนนความโน้มเอียงที่ใช้เป็นทางเลือกในการปรับความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้ยา β-blockers และไม่ได้ยา ข้อมูลจากการติดตามตั้งแต่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลชี้ว่า ขนาดอิทธิพลอ่อนลงเล็กน้อย แต่เห็นผลด้านการป้องกันจากการรักษาด้วย β-blockers ที่เริ่มตั้งแต่รับเข้ารักษาเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย (0.64, 0.44-0.94; p = 0.02)
การใช้ยา β-blockers โดยเริ่มตั้งแต่รับเข้ารักษาเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือก่อนกล้ามเนื้อหัวใจตายสัมพันธ์กับการรอดชีพที่ดีขึ้นหลังกล้ามเนื้อหัวใจตายในผู้ป่วย COPD