เหตุการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด และยาเม็ดฟู่มีส่วนประกอบของโซเดียม
BMJ 2013;347:f6954.
บทความเรื่อง Association between Cardiovascular Events and Sodium-Containing Effervescent, Dispersible, and Soluble Drugs: Nested Case-Control Study รายงานผลจากงานวิจัยอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่ได้รับยาเม็ดฟู่ที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้ยาประเภทเดียวกันแต่ปราศจากโซเดียม
นักวิจัยอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูล Clinical Practice Research Datalink (CPRD) ครอบคลุมผู้ป่วยอายุ 18 ปีหรือมากกว่าซึ่งได้รับยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมอย่างน้อยสองชุด หรือยาเดียวกันที่เป็นสูตรมาตรฐานระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1987 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010 มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ composite primary outcome ของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือการตายเนื่องจากโรคหลอดเลือด และ secondary analysis ได้รวมผู้ป่วยที่เกิดความดันเลือดสูง หัวใจล้มเหลว และการตายทุกสาเหตุ
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วย 1,292,337 ราย และมัธยฐานการติดตามเท่ากับ 7.23 ปี นักวิจัยได้จับคู่ผู้ป่วย 61,072 รายที่เกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดกับกลุ่มควบคุม โดยพบว่า odds ratio ที่ปรับแล้วสำหรับการได้รับยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเท่ากับ 1.16 (95% confidence interval 1.12-1.21) สำหรับ primary endpoints ด้านการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือการตายเนื่องจากโรคหลอดเลือด ขณะที่ odds ratios ที่ปรับแล้วสำหรับ secondary endpoints เท่ากับ 1.22 (1.16-1.29) สำหรับสโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต, 1.28 (1.23-1.33) สำหรับการตายทุกสาเหตุ, 7.18 (6.74-7.65) สำหรับความดันเลือดสูง, 0.98 (0.93-1.04) สำหรับหัวใจล้มเหลว, 0.94 (0.88-1.00) สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต และ 0.70 (0.31-1.59) สำหรับการตายเนื่องจากโรคหลอดเลือด มัธยฐานเวลาจากการได้รับยาครั้งแรกจนถึงเกิดเหตุการณ์ครั้งแรกเท่ากับ 3.92 ปี
การได้รับยาเม็ดฟู่ที่มีส่วนประกอบของโซเดียมสัมพันธ์กับค่า odds ต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับยาสูตรมาตรฐาน จึงควรที่จะพิจารณาการจ่ายยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมอย่างระมัดระวังเฉพาะในกรณีที่เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่ากว่าความเสี่ยง