3 นักวิจัยไทยคว้าทุนวิจัย “เซเรบอส อวอร์ด 2013” จุดประกายผลงานวิจัย ต่อยอดยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
การวิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ ความจริง และเป็นวิธีการที่มีความเชื่อถือได้มากกว่าวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เนื่องจากการวิจัยจะต้องผ่านกระบวนการซึ่งประกอบด้วย การกำหนดปัญหา การตั้งสมมุติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล และเขียนรายงานการวิจัย ทำให้ข้อมูลความรู้ที่ได้จากการวิจัยสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ มากมาย รวมถึงยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกด้วย
จากความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการสนับสนุนให้มีงานวิจัยเกิดขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด” ประจำปี ค.ศ. 2013 ซึ่งจัดโดยบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชมรมโภชนวิทยามหิดล วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิเซเรบอส ได้มอบทุนให้แก่ 3 นักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ในงานประชุมวิชาการ “อาหารและโภชนาการส่งเสริมสุขภาพสมอง” ณ ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
โครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด” เป็นโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยร่วมส่งผลงานเพื่อขอรับทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของไทย และส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขภาพให้แก่คนไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ได้มอบทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินปีละ 500,000 บาท โดยไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยได้รับทุนจากโครงการไปแล้วกว่า 37 ผลงาน โดยในปีนี้มี 3 นักวิจัยดีเด่นที่ได้รับทุน ได้แก่ นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กับผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม เพื่อศึกษาสารสกัดจากรากและเหง้าของต้นแบลกโคฮอสในการรักษาอาการสัมพันธ์กับวัยหมดระดูระดับปานกลางถึงรุนแรงในสตรีไทย”, ดร.วรรณวิมล คล้ายประดิษฐ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีเอ็นแคปซูเลชันในการเพิ่มความคงตัวให้กับแอสตาแซนธินธรรมชาติ สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร” และนักเรียนพยาบาล เครือวัลย์ พิรักษา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก กับผลงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่สอง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”
นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กับผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม เพื่อศึกษาสารสกัดจากรากและเหง้าของต้นแบลกโคฮอสในการรักษาอาการสัมพันธ์กับวัยหมดระดูระดับปานกลางถึงรุนแรงในสตรีไทย” กล่าวว่า ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีนักวิจัยที่มีความสามารถมากมาย และมีมุมมองงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนดี ๆ ที่ผลักดันให้นักวิจัยไทยสร้างงานวิจัยดี ๆ เพื่อสังคมไทยต่อไป
อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู (Menopausal Symptoms) เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นอาการที่พบบ่อยในสตรีวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดู ในสตรีไทยพบว่าความชุกของอาการสัมพันธ์กับวัยใกล้หมดระดูและวัยหมดระดูได้สูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งอาการเหล่านี้หากไม่ได้รักษาย่อมส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รบกวนอาการนอนหลับ ผลเสียต่ออารมณ์ ความจำ และความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยในปัจจุบันการรักษาอาการดังกล่าวมีหลายวิธี แม้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนยังเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่พบว่าอาจเพิ่มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านม โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
“ทั้งนี้คนไข้วัยทองปัจจุบันจะกลัวผลข้างเคียงจากฮอร์โมนมาก แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันจะไม่มีการยืนยันว่าการรับประทานฮอร์โมนจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมก็ตาม แต่คนไข้ส่วนหนึ่งก็ยังวิตกกังวลถึงผลข้างเคียงแม้ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัยว่าเราน่าจะมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีให้แก่พวกเขา และเห็นว่าต้นแบลกโคฮอสในต่างประเทศได้นำมาศึกษาและมีการใช้กันมาก”
ในปัจจุบันมีหลายการศึกษาที่ประเมินประสิทธิภาพของสารสกัดจากรากและเหง้าของ Cimicifuga Racemosa ในการรักษาอาการสัมพันธ์กับวัยหมดระดู โดยพบว่าในแต่ละการศึกษามีความแตกต่างกันของกลุ่มคนไข้ที่นำมาศึกษา หรือปริมาณยาที่ได้รับในแต่ละวัน และวิธีการสกัดยา ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาอาการสัมพันธ์กับวัยหมดระดูระดับปานกลางถึงรุนแรง ด้านสารสกัดจากรากและเหง้าของ Cimicifuga Racemosa และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ตลอดจนผลการรักษาต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และเปรียบเทียบความพึงพอใจโดยรวมหลังได้รับการรักษา ที่สำคัญเราดูเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันคนไข้มักจะกังวลเรื่องผลข้างเคียงของยา
นพ.พัฒน์ศมา กล่าวต่อว่า ปัญหาของงานวิจัยในปัจจุบันน่าจะเป็นในเรื่องของทุนสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันผมคิดว่านักวิจัยทุกคนมีไอเดียดี ๆ มากแต่ขาดทุนสนับสนุน และที่สำคัญที่สุดคือ การขาดความร่วมมือกันระหว่างสถาบัน
ดร.วรรณวิมล คล้ายประดิษฐ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้เทคโนโลยีเอ็นแคปซูเลชันในการเพิ่มความคงตัวให้กับแอสตาแซนธินธรรมชาติ สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร” กล่าวว่า ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ในครั้งนี้นับเป็นเงินทุนที่สำคัญที่ทำให้การวิจัยสามารถดำเนินไปได้ และเป็นการสนับสนุนที่มีค่าสำหรับนักวิจัยที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยของเราจะมีการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนคนไทยอย่างแน่นอน
สำหรับการวิจัยนี้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความไม่คงตัวของแอสตาแซนธิน เมื่อมีการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เนื่องจากแอสตาแซนธินมีโครงสร้างแบบโพลิอีน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยในการเกิดปฏิกิริยาเคมี และทำให้โครงสร้างของแอสตาแซนธินมีลักษณะไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แอสตาแซนธินเกิดการเสียสภาพได้ง่ายจากสภาพแวดล้อม เช่น แสง ความร้อน ออกซิเจน เป็นต้น ทั้งในกระบวนการผลิต หรือการเก็บรักษา ซึ่งทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการและสมบัติเชิงหน้าที่ ทั้งนี้การวิจัยที่เน้นการเพิ่มความคงตัวให้กับแอสตาแซนธิน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเอ็นแคปซูเลชัน (Encapsulation Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยกักเก็บสารต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในสภาวะที่เป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ให้อยู่ภายในสิ่งห่อหุ้มที่มีลักษณะคล้ายแคปซูลที่มีขนาดเล็ก ทั้งระดับไมโครเมตร และนาโนเมตร นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมอัตราการปลดปล่อยของสารออกจากแคปซูล และช่วยรักษาสมบัติของสารภายในแคปซูลให้คงทนและมีประสิทธิภาพภายใต้สภาวะที่กำหนด
นักเรียนพยาบาล เครือวัลย์ พิรักษา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก กับผลงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่สอง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” กล่าวว่า ตนรู้สึกขอบคุณทางบริษัทเซเรบอส ที่เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ทำให้เรามีทุนวิจัยเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดงานวิจัยได้ ซึ่งงานวิจัยนี้จะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีจำนวนมากในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2554 มีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกที่มีอายุ 20-79 ปี จำนวน 366 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของประชากรโลก และจากการประมาณจำนวนผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกพบว่าจะมีผู้เป็นเบาหวานอย่างน้อย 552 ล้านคนในปี พ.ศ. 2573 โดยพบว่าผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศไทยที่พบว่าจำนวนผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นตามอายุประชากร และพบมากที่สุดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเป็นผลมาจากประชากรของประเทศมีอายุยืนขึ้น และมีการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และพลังงานสูงร่วมกับการออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายน้อย สาเหตุเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการควบคุมและดูแลอาการเจ็บป่วยของตนเอง
ดังนั้น จากความสำคัญของปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการควบคุมเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาจะใช้เป็นแนวทางในการให้ความรู้ การแนะนำการปฏิบัติตนแก่ผู้เป็นเบาหวานในส่วนที่ยังปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และนำไปสู่การลดลงของอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานเดิมอยู่แล้วมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนเป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะนำไปใช้ในการวางแผนและพัฒนารูปแบบการดูแลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด จะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในด้านการรักษา หรือการนำไปประยุกต์เพื่อศึกษาในเบื้องลึกต่อไป ซึ่งทั้ง 3 ผลงานวิจัยข้างต้นนี้จะเป็นอีกแรงผลักดันและยกระดับสาธารณสุขไทยในการที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาด้านสาธารณสุขของไทย และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจำนวนมากอีกด้วย