บรรยายใต้ภาพ 1. นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
ปวดหลังเรื้อรัง...ไม่ต้องผ่าตัด ด้วยนวัตกรรมสลายพังผืด Epidural Adhesiolysis
โรคปวดหลังพบได้ในคนทุกกลุ่มตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่กว่า 80% เกิดจากความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อเนื่องมาจากอิริยาบถที่ผิดท่าทาง เช่น การเดิน การยืน การนอน การนั่ง หรือการใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง เช่น ยกของหนัก การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ ส่วน 20% ที่เหลือเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะและโรคต่าง ๆ ทั้งนี้ พังผืดในช่องไขสันหลังถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยพังผืดจะไปขัดขวางการเคลื่อนตัวตามปกติของเส้นประสาท ขัดขวางเส้นเลือดที่จะนำเลือดและออกซิเจนไปที่เส้นประสาท รวมทั้งก่อให้เกิดการอักเสบในช่องไขสันหลัง โดยภาวะที่ทำให้เกิดพังผืดที่ช่องไขสันหลังเกิดจากการอักเสบเรื้อรังจากหมอนรองกระดูก การอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet joint) กระดูกสันหลังเคลื่อน หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังหักยุบ เคยได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาก่อน การติดเชื้อที่กระดูกสันหลังและเนื้องอกกระดูกสันหลัง
ในเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดในบางกรณี พร้อมกับแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งานหลัง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการปวดต่อเนื่องจนกลายเป็นโรคเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน อาจต้องพึ่งการฉีดยาลดการอักเสบที่ช่องไขสันหลัง (Epidural steroid injection) โดยตรง และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัด บางรายอาจต้องมีการใส่สกรูเข้าไปเพื่อยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคง ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้แม้จะเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐานและแพร่หลายทั่วไป แต่ก็ต้องใช้เวลาพักฟื้นทนเจ็บแผลบนเตียงไปอีกนานหลายเดือน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่นับรวมความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนมาก ไม่สามารถที่จะทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ ก็ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดหลังไปตลอด
อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์สมัยใหม่มีการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ที่เรียกว่า Epidural Adhesiolysis (EA) ซึ่งเป็นการฉีดยาเข้าไปที่ช่องไขประสาทเพื่อสลายพังผืดผ่านทางผิวหนังโดยตรง ซึ่งทางโรงพยาบาลปิยะเวทถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ๆ ในประเทศไทยที่นำวิธีการรักษานี้เข้ามาให้บริการเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว และได้ให้การรักษาผู้ป่วยมาแล้วกว่า 100 ราย
นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า วิธีการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ที่เรียกว่า Epidural Adhesiolysis (EA) จะใช้เครื่องมือพิเศษซึ่งมีลักษณะเป็นด้ามจับที่ต่อกับอุปกรณ์คล้ายท่อสาย Catheter ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มม. ยาว 30 ซม. สอดเข้าไปในช่องด้านหลังกระดูกเชิงกรานบริเวณเหนือก้นกบ โดยผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ ซึ่งสาย Catheter จะทำหน้าที่เลาะและตัดพังผืดที่เกิดขึ้นรอบถุงไขประสาทให้หลุดออกจากการกดทับหรือดึงรั้งเส้นประสาทเพื่อทำการรักษา และยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ฉีดยาแก้อักเสบและยาละลายพังผืดตรงจุดก่อโรคได้โดยตรงในคราวเดียวกัน และยังสามารถฉีดยาบริเวณช่องกระดูกสันหลังได้หลายตำแหน่งจากการสอดสายเข้าไปเพียงครั้งเดียว ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องดมยาสลบเพื่อผ่าตัดใหญ่ เพียงแค่ใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณช่องหลังส่วนล่างก่อนทำการสอดสายเข้าไป ใช้เวลารักษารวมประมาณ 2-3 ชั่วโมง
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี EA คือเป็นการผ่าตัดแบบเล็ก (minimal invasive) บาดแผลมีขนาดเล็กเท่ารูเข็ม คือประมาณ 2 มม. เท่านั้น เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย หลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยที่มีคิวต้องผ่าตัดใหญ่ลดลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงแค่คืนเดียวก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ในต่างประเทศเมื่อรักษาด้วย EA เสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที ลดอาการปวดได้ทันที ฟื้นตัวกลับไปทำงานได้เร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่ คือน้อยลงประมาณ 1 ใน 4 จากเดิม และเชื่อว่าในอนาคตค่าใช้จ่ายจะน้อยลงกว่านี้
นอกจากนี้การรักษาด้วยวิธี EA ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากหากเป็นผ่าตัดใหญ่ ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงทั้งการเสียเลือดและผลแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคไต หรือมีการเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ หรือเปลี่ยนตับมาแล้ว ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นหากรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ แต่ถ้ารักษาด้วยวิธี EA จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยมีผลงานวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้คือ 98 ปี สำหรับโรงพยาบาลปิยะเวทเคยรักษาผู้ที่มีอายุสูงสุดคือ 95 ปี แต่ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ปี รวมทั้งมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้วหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีพังผืดเป็นจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้ารักษาด้วยวิธี EA จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ด้วย
ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยวิธี EA คือ ปวดที่รอยเข็มเพียงแค่นิดเดียว โดยแผลจะหายภายใน 1 อาทิตย์ อาจจะมีการปัสสาวะขัดเล็กน้อยในช่วงแรก เนื่องจากระหว่างการรักษาจะมีการรบกวนเส้นประสาทบริเวณนั้นเล็กน้อย แต่พบเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นปัญหา มีอาการปวดศีรษะ แต่พบน้อยมากประมาณน้อยกว่า 1% ซึ่งต่างจากการฉีด Epidural steroid injection โดยตรงที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำไขสันหลังรั่ว ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ถึง 5-10% ในบางรายอาจมีอาการติดเชื้อโรคเนื่องจากแผลอยู่ใกล้รูก้น แต่พบได้น้อยมาก ๆ
โรคที่สามารถใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้คือ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน โรคหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน อาการปวดหลังหลังการผ่าตัด อาการปวดหลังเรื้อรัง ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ และข้อกระดูกสันหลังเสื่อม นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่ปวดหลังเรื้อรังจากกระดูกสันหลังหัก ปวดหลังจากโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ และเนื้องอกกระดูกสันหลังแบบไม่ร้ายแรง
ทั้งนี้ผลการรักษาด้วยวิธี EA จะขึ้นอยู่กับปริมาณพังผืด ถ้ามีพังผืดจำนวนมาก ผลการรักษาก็จะน้อยกว่าผู้ที่มีพังผืดน้อยและสุขภาพแข็งแรง โดยผู้ที่มีพังผืดไม่มากและมีสุขภาพแข็งแรง ผลการรักษาจะสูงถึง 90% ขึ้นไป อาการจะดีขึ้นทันที และดีไปอีกนานจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ หรือผู้ป่วยบางรายหากดูแลตนเองอย่างดีอาการอาจจะไม่กลับมาหลายปี แต่ถ้าพังผืดมีมาก เช่น ผู้ที่ผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง ผลการรักษาจะไม่ได้ 100% แต่สามารถทุเลาอาการได้ โดยทั่วไปจากการวิจัยพบว่าส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นและคงอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้ามีพังผืดมาก ระยะเวลาก็จะน้อยลง การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่มีข้อจำกัด สามารถทำได้ตลอด แต่ส่วนใหญ่จะทำซ้ำได้เร็วที่สุดคือ ห่างกัน 1 เดือน
“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ทางโรงพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมากว่า 100 ราย ผลตอบรับอยู่ในขั้นดีถึงดีมาก อันเนื่องมาจากการพูดคุยก่อนการรักษาถึงความคาดหวังของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจจะคาดหวังผลการรักษา 100% แต่ด้วยจำนวนพังผืดและสภาพร่างกายแล้ว แพทย์อาจจะรักษาให้ได้แค่ 60% ซึ่งถ้าผู้ป่วยยอมรับในจุดนี้ได้ก็ถือว่าการรักษาประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างผู้ป่วยอายุ 80 กว่าปี รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ฉีดยา กายภาพ แต่ไม่ดีขึ้น จนไม่สามารถผ่าตัดได้อีกแล้วเนื่องจากความเสี่ยงสูง การรักษาด้วยวิธีนี้ก็จะช่วยได้ แม้ผลการรักษาจะได้ 50% แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น” นพ.พูนศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย