นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี
การรักษาพิษแมงกะพรุน แมงกะพรุนมีหลายชนิด ชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาเมื่อเราไปสัมผัสได้แก่ แมงกะพรุนไฟ ซึ่งมีลักษณะสีคล้ำ ๆ แดง ๆ ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษ โดยบริเวณสายและหนวดจะมีเข็มพิษจำนวนมาก หากเราไปสัมผัสโดนพิษของแมงกะพรุนอาจทำให้เกิดความผิดปกติจากพิษดังกล่าว ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดปัญหาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการปวดแสบปวดร้อน และผิวหนังอักเสบตามมา ถ้าถูกแมงกะพรุนควรรีบขึ้นจากน้ำทันที ไม่ควรฝืนเล่นน้ำต่อ เพราะอาการอาจจะรุนแรงขึ้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หมดสติ หรือหยุดหายใจ ให้รีบตามคนมาช่วยเหลือ และช่วยฟื้นคืนชีพทันที คำแนะนำเดิมที่ทราบกันโดยทั่วไป ได้แก่ ควรล้างด้วยน้ำทะเลแล้วรีบนำน้ำส้มสายชูมาราดบริเวณแผลโดยเร็ว โดยเชื่อว่าน้ำส้มสายชูจะช่วยยับยั้งไม่ให้เข็มพิษแตกเพิ่มขึ้น ห้ามถูหรือสัมผัสบริเวณแผลด้วยมือเปล่า เพราะอาจจะมีเข็มพิษอยู่ ถ้ายังมีหนวดติดอยู่ให้เอาออกด้วยความระมัดระวังโดยใช้ที่คีบ ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชูให้ล้างด้วยน้ำทะเลให้มากที่สุด ไม่ควรใช้น้ำอย่างอื่นล้าง อาจใช้ผักบุ้งทะเลทาที่แผลเบื้องต้น ถ้ามีอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป จากข้อมูลเบื้องต้นที่เราทราบกันทั่วไปจึงเป็นที่มาของการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในครั้งนี้ว่า ฐานข้อมูลทางการแพทย์ได้อ้างอิงวิธีการรักษาพิษแมงกะพรุนไว้อย่างไร ได้ทำการสืบค้นข้อมูลเชิงประจักษ์ในฐานข้อมูล Cochrane รวบรวมข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ทำการศึกษาจำนวน 435 คนที่เน้นการศึกษาแมงกะพรุน Physalia พบว่าหากสัมผัสแมงกะพรุนแล้วทำการรักษาด้วยการล้างและแช่ด้วยน้ำอุ่น พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดและการระคายเคืองได้ดีกว่าการใช้ประคบ cold pack (RR 1.66, 95% confidence interval 1.01-2.72) มีการทำการศึกษาเปรียบเทียบการใช้น้ำส้มสายชูเปรียบเทียบกับน้ำอุ่น พบว่าน้ำส้มสายชูจะเกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ (RR 0.31, 95% confidence interval 0.14-0.72)
กล่าวโดยสรุป การรักษาพิษของแมงกะพรุนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการปวด การรักษาด้วยการใช้น้ำเกลืออุ่นให้ผลการรักษาที่ดีมาก