วินิจฉัยเกินจาก Low-Dose Computed Tomography ในมะเร็งปอด

วินิจฉัยเกินจาก Low-Dose Computed Tomography ในมะเร็งปอด

JAMA Intern Med. Published online December 9, 2013.

บทความเรื่อง Overdiagnosis in Low-Dose Computed Tomography Screening for Lung Cancer รายงานว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดให้ผลดีต่อการลดอัตราตาย แต่นอกเหนือจากตรวจพบเนื้องอกอันตรายแล้วยังอาจตรวจพบเนื้องอกที่โตช้าซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดอาการทางคลินิก ซึ่งการวินิจฉัยเกินนี้ถือเป็นผลเสียประการหนึ่งที่อาจเกิดได้จากการตรวจคัดกรองเนื่องจากส่งผลต่อค่าใช้จ่ายการรักษา ความหวาดวิตก และการเจ็บป่วยอันเป็นผลมาจากการรักษามะเร็ง

นักวิจัยได้ประเมินปัญหาวินิจฉัยเกินในการศึกษา National Lung Screening Trial (NLST) ซึ่งเปรียบเทียบการตรวจคัดกรองด้วยวิธี low-dose computed tomography (LDCT) และ chest radiography (CXR) ในผู้เข้าร่วมวิจัย 53,452 รายซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งปอด โดยติดตามเป็นระยะ 6.4 ปีเพื่อเปรียบเทียบส่วนต่างจำนวนมะเร็งปอดระหว่าง LDCT arm และ CXR arm

นักวิจัยประเมินการวินิจฉัยเกิน 2 แนวทาง ได้แก่ ความน่าจะเป็นที่มะเร็งปอดซึ่งตรวจพบจากการตรวจคัดกรองด้วย LDCT เป็นการวินิจฉัยเกิน (PS) และจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่ประเมินว่าวินิจฉัยเกินต่อจำนวนคนที่ต้องตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการตาย 1 รายจากโรคมะเร็งปอด

ระหว่างการติดตามมีรายงานมะเร็งปอด 1,089 รายใน LDCT arm และ 969 รายใน CXR arm ของการศึกษา NLST ความน่าจะเป็นเท่ากับ 18.5% (95% CI 5.4-30.6%) ที่มะเร็งปอดซึ่งตรวจพบด้วย LDCT เป็นการวินิจฉัยเกิน, 22.5% (95% CI 9.7-34.3%) ที่มะเร็งปอดชนิด non-small cell lung cancer ตรวจพบด้วย LDCT เป็นการวินิจฉัยเกิน และ 78.9% (95% CI 62.2-93.5%) ที่มะเร็งปอดชนิด bronchioalveolar lung cancer ตรวจพบด้วย LDCT เป็นการวินิจฉัยเกิน โดยจำนวนผู้ป่วยวินิจฉัยเกินจากผู้เข้าร่วมวิจัย 320 รายซึ่งจำเป็นต้องตรวจคัดกรองในการศึกษา NLST เพื่อป้องกันการตาย 1 รายจากโรคมะเร็งปอดเท่ากับ 1.38

มะเร็งกว่า 18% ที่ตรวจพบด้วย LDCT ในการศึกษา NLST อาจเป็นมะเร็งโตช้า และควรพิจารณาการวินิจฉัยเกินเมื่อประเมินความเสี่ยงจากการตรวจ LDCT สำหรับโรคมะเร็งปอด