เพิ่มรับประทานใยอาหารลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

เพิ่มรับประทานใยอาหารลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

BMJ 2013;347:f6879.

บทความเรื่อง Dietary Fibre Intake and Risk of Cardiovascular Disease: Systematic Review and Meta-Analysis รายงานผลการศึกษาแบบ systematic review และ dose-response meta-analysis เพื่อประเมินการรับประทานใยอาหารและความสัมพันธ์แบบ dose response กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด

นักวิจัยรวบรวมข้อมูลจาก Cochrane Library, Medline, Medline in-process, Embase, CAB Abstracts, ISI Web of Science, BIOSIS และสืบค้นเพิ่มเติม งานวิจัยที่ศึกษาเป็นงานวิจัยที่รายงานความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคใยอาหารและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด งานวิจัยมีระยะติดตามตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และตีพิมพ์ในอังกฤษระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1990 ถึง 6 สิงหาคม ค.ศ. 2013

มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา 22 ชิ้น โดยได้รายงานการรับประทานใยอาหารรวม กลุ่มย่อยของใยอาหาร หรือใยอาหารจากแหล่งอาหาร และ primary events ของโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การรับประทานใยอาหารสัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (risk ratio 0.91 per 7 g/day [95% confidence intervals 0.88-0.94]) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (0.91 [0.87-0.94]) โดยพบ heterogeneity ระหว่างงานวิจัยสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด (I2 = 45% [0-74%]) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (I2 = 33% [0-66%]) ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำและใยอาหารจากธัญพืชและผักมีความสัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่การรับประทานใยอาหารจากผลไม้มีความสัมพันธ์แบบกลับกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

การรับประทานใยอาหารมากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสอดคล้องกับคำแนะนำให้เพิ่มการรับประทานใยอาหาร ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ตามชนิดของใยอาหารหรือแหล่งอาหารเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของใยอาหาร