ผลรักษาปริทันต์โดยไม่ผ่าตัดต่อค่า HbA1c ในเบาหวานชนิดที่ 2 และปริทันต์อักเสบเรื้อรัง
JAMA. 2013;310(23):2523-2532.
บทความเรื่อง The Effect of Nonsurgical Periodontal Therapy on Hemoglobin A1c Levels in Persons with Type 2 Diabetes and Chronic Periodontitis: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า โรคปริทันต์อักเสบเรื้อรังสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน และมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าการรักษาปริทันต์อาจให้ผลดีต่อการควบคุมน้ำตาล
นักวิจัยดำเนินการศึกษา Diabetes and Periodontal Therapy Trial (DPTT) เพื่อประเมินว่าการรักษาปริทันต์โดยไม่ผ่าตัดสามารถลดระดับ glycated hemoglobin (HbA1c) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปริทันต์อักเสบเรื้อรังที่มีอาการปานกลางถึงเป็นมากได้หรือไม่ โดยศึกษาจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งได้ยาคงที่ มีระดับ HbA1c ระหว่าง 7-9% และไม่ได้รับการรักษาโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง นักวิจัยรวบรวมผู้เข้าร่วมวิจัย 514 รายระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2009 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 จากคลินิกเบาหวานและทันตกรรม และโรงพยาบาลในเครือศูนย์การแพทย์ระดับอุดมศึกษา
กลุ่มทดลอง (n = 257) ได้รับการรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟันร่วมกับน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine ที่เส้นฐานและการรักษาประคับประคองที่ 3 และ 6 เดือน และกลุ่มควบคุม (n = 257) ไม่ได้รับการรักษาตลอด 6 เดือน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของค่า HbA1c จากเส้นฐานระหว่างทั้งสองกลุ่มที่ 6 เดือน และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของความลึกของร่องปริทันต์ การสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ อาการเลือดออก ดัชนีเหงือกอักเสบ ค่าน้ำตาลขณะอดอาหาร และคะแนน Homeostasis Model Assessment (HOMA 2)
การศึกษายุติลงก่อนกำหนดเนื่องจากไม่พบว่ามีประโยชน์ โดยที่ 6 เดือนพบว่า mean HbA1c ในกลุ่มรักษาปริทันต์เพิ่มขึ้น 0.17% (SD 1.0) เทียบกับ 0.11% (SD 1.0) ในกลุ่มควบคุม โดยไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญจาก linear regression model ที่ปรับตาม clinical site (mean difference -0.05% [95% CI -0.23 ถึง 0.12%]; p = 0.55) มาตรวัดผลทางปริทันต์ดีขึ้นในกลุ่มทดลองเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 6 เดือน โดยมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ปรับแล้วเท่ากับ 0.28 มิลลิเมตร (95% CI 0.18-0.37) สำหรับความลึกของร่องปริทันต์, 0.25 มิลลิเมตร (95% CI 0.14-0.36) สำหรับการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์, 13.1% (95% CI 8.1-18.1%) สำหรับอาการเลือดออก และ 0.27 (95% CI 0.17-0.37) สำหรับดัชนีเหงือกอักเสบ (p < 0.001 for all)
การรักษาปริทันต์โดยไม่ผ่าตัดไม่ช่วยฟื้นฟูการควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีปริทันต์อักเสบเรื้อรังที่มีอาการปานกลางถึงเป็นมาก ผลลัพธ์นี้ไม่สนับสนุนการรักษาปริทันต์โดยไม่ผ่าตัดในผู้ป่วยเบาหวานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับ HbA1c